ระนอง - จังหวัดระนองเตรียมประกาศให้แหล่งที่พบ “พลับพลึงธาร” เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หลังพบว่าพลับพลึงธารในคลองนาคา อำเภอสุขสำราญ และคลองกะเปอร์ จ.ระนอง ลดลง เหลือเพียง 3 ไร่กว่าเท่านั้น
จังหวัดระนองจัดประชุมเปิดตัวโครงการระดมความคิดเห็น เพื่อเตรียมประกาศให้แหล่งที่พบพลับพลึงธารเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลับพลึงธารถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมาก พบได้ทางภาคใต้ตอนบน โดยเฉพาะที่คลองนาคา อำเภอสุขสำราญ คลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งปัจจุบัน สถานภาพของพลับพลึงธารจัดเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์
พลับพลึงธาร หรือหอมน้ำจัดเป็นพืชมีดอกในวงศ์พลับพลึง เป็นพันธุ์ไม้น้ำประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ เจริญเติบโตในลำธารและคลองสายสั้นๆ ที่มีสภาพน้ำใส และแหล่งน้ำไหลมีการระบายน้ำดี ลักษณะเด่นของพลับพลึงธาร คือ รากเป็นระบบรากฝอย ลำต้นอยู่ใต้ดินใบมีเกล็ดทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันตา และใบอ่อนซ้อนกันจนมีลักษณะเป็นหัว ใบเดี่ยวมีลักษณะเป็นแถบยาว ช่อดอกมีลักษณะเป็นซี่ร่ม มีจำนวนดอกย่อย 4-14 ดอก ดอกเป็นชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียครบทุกส่วนในดอกเดียวกัน พลับพลึงธาร จะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น ความพิเศษของดอกพลับพลึงธาร คือ จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนผลมีสีแดง
ซึ่งในปัจจุบัน การตัดไม้เป็นการทำลายต้นน้ำลำธาร การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการขุดลอกคลอง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำให้เกิดการชะล้างและพังทลายทำให้สภาพน้ำที่เคยใส ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่เดิมเปลี่ยนสภาพเป็นตะกอนโคลนตม ทำให้พลับพลึงธารในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก จากข้อมูลพบว่า บริเวณที่พบพลับพลึงธารนั้น ลดลงจาก 10.73 ไร่ เหลือเพียง 3.41 ไร่ ภายในระยะเวลา 2 ปี
จากปัญหาดังกล่าวทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of conservation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union : IUCN) เพื่อศึกษา สำรวจ เก็บข้อมูล และำดำเนินงานเป็นฐานการขยายผล โดยจัดประชุมระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหลายๆ ฝ่ายศึกษาผลกระทบหลายๆ ด้าน ประโยชน์และปัญหาที่ได้รับ แนวคิดการคุ้มครองแหล่งที่พบ พร้อมทั้งร่างกำหนดเขตและมาตรการคุ้มครอง ก่อนเสนอให้แหล่งที่พบพลับพลึงธารเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม