xs
xsm
sm
md
lg

ตัวอะไร!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัตว์หน้าตาประหลาดนี้คือ “หมีน้ำ” อยู่ในภาพที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายวิทยาศาสตร์ของนิตยสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง The Scientist

“หมีน้ำ” (water bear) คือชื่อที่รู้จักกันทั่วไปของ มาโครไบโอตุส ซาเปียนส์ (Macrobiotus sapiens) หรือสัตว์หน้าตาประหลาดที่บันทึกภาพโดยทีม “อายออฟไซน์” (Eye of Science) ที่มีสมาชิกคือ โอลิเวอร์ เมคส์ (Oliver Meckes) ผู้เป็นช่างภาพ และ นิโคล ออตตาวา (Nicole Ottawa) นักชีววิทยา
แม้ชื่อฟังดูใหญ่โตแต่หมีน้ำมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตรเสียอีก โดยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำและแหล่งอาศัยครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างไลเคนและตะไคร่น้ำชื้นๆ และข้อมูลจากบีบีซีเนเจอร์ระบุว่าเราพบสิ่งมีชีวิตจิ๋วชนิดนี้ได้ทั้งบนบก ในน้ำจืดและในทะเล และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทนต่ออุณหภูมิติดลบ ไม่สะทกสะท้านต่อลมสุริยะหรือแม้กระทั่งสภาวะสุญญากาศ

บีบีซีเนเจอร์ยังเคยรายงานด้วยว่าในภารกิจกระสวยอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) โดยเที่ยวบินของเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ได้นำหมีน้ำและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ ขึ้นไปทดสอบความอึดในอวกาศเมื่อเดือน พ.ค.ปี 2011 ที่ผ่านมานี้ด้วย

นอกจากภาพหมีน้ำแล้ว ยังมีภาพของ “ไลโปโซมไจแอนท์ยูนิลาเมลลาร์” (giant unilamellar liposome) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 40 ไมโครเมตร ซึ่งบันทึกภาพโดย หลุยส์ บากาตอลลี (Luis Bagatolli) นักฟิสิกส์ชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก (University of Southern Denmark) ผ่านกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนส์โฟกัสรวมแบบเลเซอร์ส่องกราด (laser scanning confocal fluorescence microscopy) เผยให้เห็นรูปดาวที่เกิดจากผลึกสองมิติอันอุดมด้วยคาราไมด์อยู่ภายในชั้นไลปิด 2 ชั้น



ภาพความละเอียดสูงของบริเวณฮิปโปแคมปัส (hippocampal) ในหนูที่เป็นดาวน์ซินโดรม โดย อาห์มาด ซาเลฮิ (Ahmad Salehi) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)



ภาพปลากระเบนไฟฟ้า (electric ray) ที่บันทึกภาพโดย ฮาริ โมฮัน แซกซีนา (Hari Mohan Saxena) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์และสัตวศาสตร์กูรูอังกาดเดฟ (Guru Angad Dev Veterinary & Animal Sciences University) อินเดีย ระหว่างเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำซีแอตเทิล (Seattle Aquarium) ในวอชังตัน สเตท สหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย.2011



หนวดของผีเสื้อแสงจันทร์ (Luna Moth) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron micrograph: SEM) ที่บันทึกโดย เท็ด คินส์แมน (Ted Kinsman) ครูฟิสิกส์มัธยมและช่างภาพวิทยาศาสตร์ ซึ่งผีเสื้อชนิดนี้เป็นผีเสื้อท้องถิ่นในอเมริกาเหนือและยังเป็นที่ทราบกันว่าผีเสื้อชนิดนี้เป็นหนึ่งในแมลงที่ไวต่อสารเคมีมากที่สุดในโลก

ภาพทั้งหมดนี้เข้ารอบชิงชนะเลิศการประกวดภาพถ่าย “แลบบีอะวอร์ด” (Labby Award) ประจำปี 2012 ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารวิทยาศาสตร์ “เดอะไซแอนทิสต์” (The Scientist) โดยแบ่งการประกวดเป็นการประกวดภาพถ่ายและการประกวดคลิปวิดีโอ และเปิดโอกาสให้คนทางบ้านร่วมโหวตลงคะแนนภาพถ่ายที่ควรชนะการประกวดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น