“เหี้ย”......!!
หากว่ามีใครมาสบถคำๆ นี้ใส่หน้าคุณ คุณคงไม่ชอบและโกรธเป็นอย่างมาก เพราะคำว่า “เหี้ย” นี้มักถูกใช้เป็นคำหยาบคายไว้ด่าทอผู้อื่นที่ไม่ดี เพราะมีเหตุมาจากการที่เหี้ยมักชอบไปลัก ไปขโมยกินเป็ด กินไก่ หรือกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน และยังชอบกินซากศพ หรือของเน่าเสีย คนเราจึงมองว่า “เหี้ย” เป็นสัตว์อัปมงคล และนำมาเปรียบเปรยกับคนที่ทำสิ่งที่ไม่ดีว่า “เหี้ย”
แต่ทว่าหากมองให้ลึกลงไปถึงระบบนิเวศตามธรรมชาติ เหี้ยมีคุณประโยชน์กว่าใครหลายๆคนเสียอีก
เหี้ย...เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง
“เหี้ย” เป็นคำไทยแท้แต่โบราณที่เอาไว้เรียกชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Squamata วงศ์ Varanidae ซึ่งคนไทยเรา(นับแต่โบราณ)ได้นำคำว่า "เหี้ย" มาใช้ด่าทอกันเอง หรือก็มีการเปลี่ยนชื่อให้เหี้ยเสียใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ตัวเงิน ตัวทอง” และอีกชื่อหนึ่งที่อาจจะไม่คุ้นเคย เพราะไม่ค่อยมีใครเรียกกันก็คือ “โคธา” หรืออีกชื่อหนึ่งที่มีคนพยายามตั้งชื่อให้ใหม่เป็น “วรนุส” (วอ-ระ-นุด) เพื่อให้ไพเราะขึ้น เพราะมีเสียงพ้องกับชื่อสกุลในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ Varanus(วารานัส)
เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเจอได้ง่าย บ้างก็เห็นอาศัยอยู่ตามลำคลองใกล้บ้านเรือนคน บ้างก็เห็นอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งพอผู้คนเห็นตัวเหี้ยก็จะพากันรู้สึกไม่ดีถึงชื่อเรียก และรูปร่างที่ใหญ่โตดูน่ากลัว แต่อันที่จริงแล้วเหี้ยเป็นสัตว์ที่ไม่น่ากลัว และกลับเป็นสัตว์ที่มีคุณมีค่า และน่ารักกว่าที่คิดและที่เห็น
ดังนั้นจึงอยากจะขอพาทุกคนไปสัมผัสเหี้ยกันอย่างลึกซึ้ง และไปทำความรู้จักกับพวกมันให้มากขึ้น ซึ่งที่เมืองไทยของเรามีการเปิด “ฟาร์มวารานัส” (เหี้ย) ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยตั้งอยู่ภายในสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม
กว่าจะมาเป็นฟาร์มเหี้ย
อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลฟาร์มเหี้ย หรือ“ฟาร์มวารานัส” ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการเปิดฟาร์มเหี้ยขึ้นมาว่า เกิดขึ้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ ได้มีการจัดทำโครงการ การศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์ตัววารานัส (Varanus salvator) เพื่อผลเชิงเศรษฐกิจขึ้น ภายใต้แนวคิดของอธิการบดีคนปัจจุบัน รองศาตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ในการทำโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอธิปดีกรมอุทยานฯได้ออกหนังสืออนุญาต ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ให้โครงการศึกษานี้ดำเนินการได้ และได้ทำการเปิด “ฟาร์มวารานัส” ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2554
“ท่านอธิการเล็งเห็นว่า เราน่าจะนำตัวเหี้ยเข้ามาเลี้ยงให้เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าเกิดว่ามีการเลี้ยงเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยที่สุดในอนาคตข้างหน้า มันก็คงไม่สูญพันธ์ ตราบใดที่สัตว์ตัวไหนทำเงินได้ มันก็ย่อมมีการเพาะลูกหลานให้เกิดขึ้น แต่ตราบใดที่ทำอนุรักษ์แล้วไม่ได้ใช้งาน มันก็ย่อมหมดไป เราก็เลยเริ่มตั้งต้นที่จะทำฟาร์มตรงนี้ขึ้นมาซึ่งการทำฟาร์มเราก็ต้องยึดหลักกฎหมายต่างๆ ด้วยเพราะว่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ (CITES : ไซเตส) เหี้ยเป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ส่วนประเทศไทยก็จัดให้เหี้ยถูกเป็นสัตว์คุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ลำดับที่ 91 ซึ่งทางโครงการก็ต้องมีการขออนุญาตเพราะเลี้ยงให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
“ก่อนหน้าที่จะทำฟาร์มตรงนี้ เราก็ได้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ กันมาแล้ว 1-2 ปี ในเรื่องของความเป็นอยู่ การกักขังเขาอย่างไรไม่ให้หนีรอดออกไป เพราะตัวเหี้ยพวกนี้มันอัจฉริยะ คือพวกมันขึ้นต้นไม้ได้ ลงน้ำก็ได้ มันขุดดินก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่สามารถไปดักมันได้ เราก็ใช้เวลาประมาณปีกว่าในการศึกษาให้ดีก่อนที่จะเปิดเป็นฟาร์มวารานัสได้” อ.สมโภชน์บอกพร้อมกับอธิบายให้รู้จักเหี้ยเพิ่มขึ้นอีกว่า
“เหี้ย” หรือ “Water monitor” ชื่อวิทยาศาสตร์ “Varanus salvator” ชอบอาศัยอยู่ริมน้ำ ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง มีจมูกอยู่ปลายปากเวลาดำน้ำแล้วโผล่ขึ้นมาเพื่อรอเหยื่อหรือหนีศัตรู เหี้ยมีผิวหนังสีดำและมีลายดอกออกสีขาวเหลืองตามขวางของลำตัว และมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไปแล้วแต่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของร่างกาย มีตีนใหญ่และหนา มีเล็บแหลมสำหรับป่ายปีนต้นไม้ และตะปบเหยื่อ หางยาวไว้รักษาสมดุลขณะเคลื่อนที่และสะสมอาหาร ทางเดินอาหารเป็นแบบกระเพาะใหญ่ลำไส้สั้นเป็นสัตว์กินเนื้อ
เหี้ยตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีหัวเล็กแบนราบ ปากเรียวยาว อ้าปากได้กว้างมากสำหรับกลืนกินเหยื่อ โดยเฉพาะบริเวณลำคอที่สามารถพองขยายได้ใหญ่มาก ลิ้นมี 2 แฉก เรียวยาว มีหน้าที่รับอุณหภูมิและความชื้นเวลาเคลื่อนที่จะแลบลิ้นตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบทิศทางในการเคลื่อนที่ และเหี้ยจะผสมพันธุ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ออกไข่เพียงปีละหนึ่งครั้ง โดยขุดดินวางไข่และกลบไข่ไว้ เหี้ยจะออกไข่ครั้งละประมาณ 30-50 ฟอง แต่มีอัตราการรอดเพียง 5 % เท่านั้น และใช้เวลา 7 เดือนในการฟักออกมาเป็นตัว
เหี้ยนิสัยดี รักพวกพ้อง ไม่ดุร้าย มาเที่ยวชมได้
เมื่อถามถึงว่าเหี้ยมีลักษณะนิสัยอย่างไร นิสัยไม่ดีชอบลักกินขโมยกินเหมือนที่คนเรานำมาเปรียบเปรยหรือไม่ อ. สมโภชน์ผู้คลุกคลีและเฝ้าสังเกตนิสัยเหี้ยเป็นประจำบอกให้ฟังว่า
“เหี้ยเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์สังคม มันไม่มีพี่ไม่มีน้อง มันไม่มีหัวหน้าหรือลูกน้อง มันอยู่ตัวเดียว แต่มันมีเพื่อนมีฝูง มันรักพวกพ้องมาก ไม่มีการกัดและไม่มีการทะเลาะ ยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์ แต่ก็ไม่มีการทำร้ายกันจนเลือดตกยางออก มันมีนิสัยดีมาก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราพบว่าเหี้ยไม่เคยกัดกัน แถมยังมีนิสัยไม่อิจฉากัน เวลากินอาหารในอ่างเดียวกันจะไม่มีการแย่งชิงอาหาร ที่เห็นบ้างก็คือ มีการกัดอาหารจากปากของอีกตัวหนึ่ง แต่ในที่สุดก็รู้ว่าที่มันกัดอาหารจากปากอีกตัวเพื่อช่วยกันฉีกอาหารออกให้มีชิ้นเล็กลงจะได้กินได้ ไม่ใช่แย่งชิงอาหารกันเหมือนสัตว์นักล่าทั่วไป นอกจากนี้การผสมพันธุ์ของพวกมัน แม้แต่รอยเล็บก็ไม่มี เพราะมันจะใช้การทุ่มกันจนอีกตัวหมดแรงเท่านั้น แล้วก็ขึ้นขี่หลังของอีกตัวว่าชนะแล้ว”
ได้รู้จักนิสัยใจคอของเหี้ยกันแล้ว มาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของเหี้ยในฟาร์มวารานัสแห่งนี้กันบ้าง ทางโครงการได้สร้างฟาร์มวารานัสขึ้น โดยจัดพื้นที่ให้เป็นเหมือนเกาะกลางน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ บนเกาะปลูกต้นไม้และมีสนามหญ้า เพื่อให้เหี้ยได้อยู่อย่างตามธรรมชาติ มีความร่มรื่น อีกทั้งบริเวณรอบๆ ฟาร์มก็จัดให้มีทัศนียภาพที่เป็นระเบียบมีความสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมรอบๆ ฟาร์มได้เห็นถึงวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของเหี้ยได้อย่างสะดวก ซึ่งภายในฟาร์มมีเหี้ยอยู่ประมาณ 80-90 ตัว ให้ได้ชม
“เหี้ยที่อยู่ในฟาร์มเราได้จากการจับมากจากรอบๆ มหาวิทยาลัย และมีบ้างที่จับมาจากที่อยุธยา เราก็เอาเขามาอยู่รวมกันในฟาร์ม มีทั้งสนามหญ้า และขุดเป็นบ่อน้ำให้จัดสถานที่ให้อย่างดี เราจัดระบบให้เขา เนื่องจากว่าเขาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นสัตว์เลื้อยคลาน เพราะฉะนั้นเลยก็ต้องมีพื้นที่น้ำ และพื้นที่แห้งให้เขา เพราะเวลาที่เขาจะหลบซ่อนตัวเขาจะลงน้ำ ชอบขุดดินเป็นโพรง พออากาศร้อนก็จะลงไปในน้ำ ส่วนอาหารเราให้ลูกหมูที่ตายแล้วจากฟาร์ม เอามาสับเป็นท่อนๆ ใส่ถาดให้กิน ตัวเขาเองก็จะมาที่อ่างและก็ล้อมวงกิน ในหนึ่งวันเราให้อาหารเขาแค่วันละ 1 มื้อ ให้ตอนประมาณ 4 โมงเย็น”
“เราเปิดฟาร์มให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำเหมือนสวนสัตว์ มาแล้วจะได้เห็นเหี้ย เดิน นอน คลานอยู่เต็มไปหมด ตรงนี้ก็ถือว่าลงทุนเยอะ แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือมีคนสนใจ พาลูกพาหลานมาเที่ยวชม” อ.สมโภชน์อธิบายพร้อมเชิญชวนให้มาเที่ยว
ผลักดันหนังเหี้ย...สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง
และการที่ทางมหาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดฟาร์มวารานัสขึ้นมา นอกเหนือจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแล้ว อ.สมโภชน์ กล่าวว่า ที่นี่ยังเป็นแหล่งศึกษาและวิจัยการเพาะพันธุ์เหี้ยเพื่อการเกษตรฯ ด้วย ซึ่งทางโครงการมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาลักษณะทางชีววิทยาต่าง ๆ ของเหี้ย เพื่อหาแนวทางและวิธีการเลี้ยงเหี้ยเชิงเศรษฐกิจ โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทุกส่วนของร่างกาย เช่น เนื้อ หนัง และเครื่องใน ทั้งในรูปแบบเครื่องใช้ และยารักษาโรค
ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการวิจัย คือ สามารถสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรไทย โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะนำผลการวิจัยเชิงเศรษฐกิจครั้งนี้ไปทำเรื่องขอยกเว้นจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถหาเลี้ยงได้เหมือนจระเข้ งูบางชนิด หรือกวางบางชนิด ซึ่งในการทำครั้งนี้จะทำงานร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและนำผลการศึกษาวิจัยมุ่งไปสู่การเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด
“ผลิตภัณฑ์จากเหี้ยมีเยอะครับ เครื่องหนังทั้งหมด มีกระเป๋า เข็มขัด รองเท้า ทำได้หมด โดยใช้หนังของตัวเหี้ย ซึ่ง หนังจะมีลายละเอียด มีความนุ่มและเหนียวของหนังมาก ทนทาน ราคาของหนังเหี้ยก็แพงกว่าหนังจระเข้ ถ้าเราทำได้ก็ส่งไปขายต่างประเทศที่รับผลิตภัณฑ์จากเหี้ย เช่นจีน ยุโรป อิตาลี นิยมหนังพวกนี้” อ.สมโภชน์ บอก
อ.สมโภชน์ ยังได้บอกถึงอนาคตของเหี้ยที่จะผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกไว้ว่า การทำฟาร์มเหี้ยอาจจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างเงินได้ในอนาคต เนื่องจากว่าเหี้ยเป็นสัตว์ใหม่ หากเอามาสร้างประโยชน์ใหม่และทำการอนุรักษ์ไว้ นำมาเพาะพันธุ์ให้เกิดลูกให้มากกว่านี้ ก็เชื่อมั่นได้ว่าเหี้ยจะไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน และเชื่อมั่นได้ว่าการทำฟาร์มเหี้ยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ จะได้รับการตอบรับที่ดีและเป็นไปในทิศทางที่ดี ต่อไปในอนาคต สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพราะเลี้ยงได้
“ผมอยากให้มองอีกมุม เหี้ยมันไม่ใช่สัตว์อัปปรีจัญไร ถ้าตราบใดที่มีปู ย่า ตา ยาย สอนพ่อแม่ว่า เหี้ยเป็นสัตว์กาลกิณี พ่อแม่สอนลูกหลานว่าเป็นสัตว์กาลกิณี แต่ถ้าเกิดตราบใดก็ตามที่ ปู ย่า ตา ยายพาลูกพาหลานมาดู แล้วก็มองเห็นว่าเหี้ยมันเป็นสัตว์ที่น่ารัก ไม่เป็นอันตรายกับใคร แล้วถ้ายิ่งรู้นิสัยมันลึกๆ ลงไปแล้ว มันน่าจะเรียกคนแย่ๆ ว่าเหี้ยมากกว่าเหี้ยเสียอีก” อ.สมโภชน์กล่าวทิ้งห้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“ฟาร์มวารานัส” ตั้งอยู่ภายในสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม เปิดให้เที่ยวชมได้ทุกวัน เวลาตั้งแต่ 08.00 น. เป็นต้นไป แต่เวลาที่แนะนำให้มาชมเป็นช่วงเวลา 16.00-18.00 น. (เพราะเป็นช่วงเวลาให้อาหาร) ถ้ามาชมเป็นหมู่คณะและต้องการให้มีผู้นำชมสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-3435-1398
คลิก!! ชมคลิป "เหี้ย"...ในฟาร์ม ได้ที่นี่