xs
xsm
sm
md
lg

“มหาธีร์” หนุน “ไทย” ใช้เวทีการเจรจาดับไฟขัดแย้งเพื่อสันติภาพอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.มหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย “ดร.มหาธีร์ โมฮำหมัด” ยกบทเรียนความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านหลังได้รับเอกราช แต่ยึดหลักสันติภาพใช้การเจรจาตกลง และศาลระหว่างประเทศเพื่อยุติปัญหามาโดยตลอด ย้ำไทยก็ต้องอาศัยแนวทางนี้แก้ไขความขัดแย้งภายในประเทศในฐานะสมาชิกอาเซียนเช่นกัน โดยปัญหาไฟใต้นั้นหากไม่ได้รับเชิญก็จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซง

วันนี้ (7 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงปาฐกถาในเวทีการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน ณ หอประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ต่อมา ดร.มหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิสัยทัศน์ผู้นำเกี่ยวกับการเมือง ความขัดแย้ง และสันติภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน” โดยยกประสบการณ์ และการแก้ปัญหาของมาเลเซียเป็นกรณีศึกษา และวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการสร้างสันติภาพ ภายใต้บริบทความเป็นประชาคมอาเซียน

 
ดร.มหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า จากการที่ประเทศมาเลเซียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นเวลานาน เมื่อเป็นอิสระก็ต้องเข้ามาดูแลกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่หลายประเทศในอาเซียนคัดค้านทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยที่มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ กันอยู่บ้าง แต่ก็ต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ทั้งที่ไม่ได้มีประสบการณ์

มาเลเซียอยู่ท่ามกลางพรมแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ และมีปัญหากับทุกๆ ประเทศเพื่อนบ้าน ไทยก็มีการอ้างสิทธิซ้ำซ้อนสามเหลี่ยมทางทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจจะทำสงครามในช่วงนั้นก็ได้ แต่ผู้นำของ 2 ประเทศในช่วงนั้นก็ไม่ได้ต้องการ และตกลงร่วมกันเพื่อสันติ จึงตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าซาบซึ้ง และยิ่งใหญ่มาก

กรณีขัดแย้งกับอินโดนีเซียมีการกล่าวอ้างสิทธิของเกาะสวยงามมาก 2 แห่ง โดยเราอ้างว่าคนของเราอยู่ที่นั่นก็เป็นของเรา ซึ่งไม่สามารถเจรจาต่อรองได้เหมือนกรณีประเทศไทย จึงยืดเยื้อนาน และขึ้นศาลระหว่างประเทศให้ตัดสินว่าใครเป็นเจ้าของเกาะกันแน่ และไม่ว่าจะออกมาเช่นไรก็ต้องเคารพ ท้ายที่สุดศาลให้เป็นของมาเลเซีย ทำให้อินโดนีเซียผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องปฎิบัติตามที่ให้พันธะสัญญาว่าจะยอมรับคำติดสินของศาล แต่ถ้าเราไม่ยอมรับกันนั้น ย่อมให้เกิดการสู้รบ ความรุนแรงตามมาอย่างแน่นอน

 
เช่นเดียวกับกรณีของสิงคโปร์ที่มีการอ้างสิทธิของหินผา และประภาคารที่อังกฤษได้สร้างไว้ เรากล่าวอ้างว่าเป็นของมาเลเซีย และให้ศาลระหว่างประเทศตัดสิน แต่ศาลตัดสินผิดไป และเราจะทำอย่างไรได้นอกจากยอมรับเช่นเดียวกัน แต่ก็ทำให้เราได้เป็นมิตรกับสิงคโปร์โดยไม่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง

หรือกรณีบรูไน เราอ้างสิทธิที่ครอบครองทางทะเล และส่งเรือไปขุดเจาะหาน้ำมันซึ่งก็อาจมีไม่มาก บรูไนก็ส่งเรือรบเข้ามาต่อต้าน แต่ผู้นำของมาเลเซียเห็นว่าไม่ได้มีค่ามากมายที่จะช่วงชิงพื้นที่ทางทะเลนั้น และตกลงที่จะขุดเจาะหาน้ำมันร่วมกันด้วยการเจรจาต่อรองเท่านั้น อาเซียนจึงสามารถแก้ความขัดแย้งด้วยวิธีการสันติ ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มอาเซียนนั้นก็มีการพบประระหว่างผู้นำมาโดยตลอด สามารถโทรศัพท์ถึงกันได้ด้วยการพูดคุยเป็นการส่วนตัว

ดร.มหาธีร์ กล่าวต่อว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลืมความรุนแรงในการช่วงชิงสิทธิครอบคลุมต่างๆ และหลีกเลี่ยงเป็นการเจราต่อรอง ใช้ศาลสถิตยุติธรรม แต่เราอาจละเลยการขึ้นศาล ดังนั้น ทางออกในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ต้องมีการเตรียมใจว่าอาจจะแพ้ หรือชนะก็ได้ แต่ต้องยึดวิธีการสันติ ต่อรอง ทำอนุญาโตตุลาการ ไปศาลระหว่างประเทศให้ชี้ขาด นี่น่าจะเป็นวิธีการที่มีอารยธรรมมากกว่า เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ทั่วโลก ถ้าคุณคิดอย่างระมัดระวังจะเห็นว่าอาเซียนมีความสำเร็จมากที่สุด หลายประเทศในโลกต้องการเสวนากับเรา ทั้งสหรัฐฯ อินเดีย ยุโรป ในการส่งเสริมความสัมพันธภาพอันดีทั้งในด้านเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ ได้หยิบยกตัวอย่างอีกว่า กรณีความขัดแย้งกับจีนก็เช่นกัน เขากล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของทะเลด้วยมีการตั้งชื่อทะเลจีนใต้ ก่อนอื่นเราต้องศึกษาความซับซ้อนของการกล่าวอ้างเพื่อหาวิธีการแก้ไข เพราะหากอ้างความเป็นเจ้าของโดยชื่อแล้ว มหาสมุทรอินเดียก็ไม่ต้องเป็นของอินเดียหรือ  ที่สำคัญคือ ต้องประเมินระดับของความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น จีนเป็นพี่ใหญ่มีประชากรเป็นพันล้านคน และเราไม่ควรไปทำเช่นนั้น จีนเองไม่ได้อยากมีสงคราม เพราะในเชิงเศรษฐกิจแล้วเขาก็คงห่วงเรื่องสินค้าที่กระจายอยู่แทบทุกแผงของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะต่างกับสหรัฐอเมริกาที่ชอบเพราะมีอาวุธทางการทหารที่ทันสมัย จึงต้องอาศัยวิธีการเจรจา แต่ถ้ายุติไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาลระหว่างประเทศที่ตั้งโดยสหประชาชาติ เพราะสงครามไม่ใช่สิ่งที่เรามองหา

 
ดังนั้น รูปแบบอาเซียนในสมัยใหม่นั้น แม้จะมีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านอยู่เสมอแต่หลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธ กรณีของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นพลเมืองของพม่า และอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะมีความรุนแรงในอนาคต เพราะเราไม่สามารถรองรับคนไร้สัญชาติที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับคนไร้รัฐอีกจำนวนมาก และก็ต้องหาทางออกอย่างสันติ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม

“อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มอาเซียนได้นำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้ และขอบคุณผู้นำอาเซียนที่ร่วมกันหลีกเลี่ยงความรุนแรงมาเป็นการเจรจาต่อรอง และพึ่งพาศาลโลก แต่ตนคิดว่าไทยยังไม่ได้ลงนามยอมรับศาลโลก ก็ไม่เป็นไร เราจะมีอาเซียนที่เข้มแข็ง และทำงานร่วมกันทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองที่ช่วยเหลือกันรักษาสันติภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่โลกว่าจะยุติความขัดแย้งกันอย่างไร”

กรณีปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีบางครั้งมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศมาเลเซียอยู่บ้าง และได้ถูกผู้เข้าร่วมการเสวนาซักถามว่าหากอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมแล้วจะกลายเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ดร.มหาธีร์ ชี้แจงว่า หากไม่ได้รับเชิญให้ร่วมมาแก้ไข ก็เป็นปัญหาภายในของประเทศไทยเอง แต่หากต้องการคนกลางที่จะช่วยเหลือ สมาชิกอาเซียนก็จะให้ความร่วมมือ

“มันไม่ฉลาดนักที่จะไปแทรกแซงปัญหาภายในของประเทศเพื่อนบ้านโดยพลการ และจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา สมาชิกของอาเซียนที่มีปัญหา เคยทำทั้งเชิญสมาชิกอาเซียนด้วยกันไปช่วยคลี่คลาย อำนวยความสะดวก หรืออื่นๆ และบางครั้งก็เชิญนอกกรอบของอาเซียน แต่ในฐานะของเพื่อนบ้านที่มีมิตรไมตรีต่อกัน” ดร.มหาธีร์กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น