เมื่อพูดถึง "เด็กไร้สัญชาติ" นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2551 และวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่มาตรา 23 มีผลบังคับใช้ ยังมีเด็กอีกหลายหมื่นคนที่ยังไม่สามารถเข้าตามหลักเกณฑ์ตาม มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้เด็กกลุ่มนี้หมดหวังในชีวิต ขาดโอกาสทางสังคมที่ดี
แต่เมื่อมีมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 ประกาศหลักเกณฑ์การให้สถานะแก่บุคคลผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งจะทำให้ "เด็กที่เกิดในประเทศไทย" โดยที่บิดา มารดา เข้ามาในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๘ เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่4) พ.ศ.2551 ทำให้เด็กที่ไร้สัญชาติ ได้มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
แต่หากพิจารณาอีกก็จะพบว่า ยังมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างยากสำหรับคนกลุ่มนี้ สุมิตร วอพะพอ ผู้ประสานโครงการจดทะเบียนเกิดและสถานะบุคคล จากองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย ผู้คร่ำวอดในด้านสถานบุคคลและกลุ่มคนไร้สัญชาติ กล่าวว่า กฎหมายสัญชาติใหม่ที่ออกมาถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กระบวนการพิจารณาสัญชาติและขั้นตอนในการอนุมัตินั้น ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการรับคำร้อง ระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาอนุมัติให้สัญชาติ อีกทั้งต้องผ่านการกลั่นกรองในระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด และระดับกรมด้วย
"นอกจากนั้น การเตรียมเอกสารยื่นคำร้องต้องมีใบอนุญาตทำงาน และต้องมีคนรับรองว่าประกอบอาชีพสุจริตอีกด้วย แล้วชาวบ้าน กลุ่มบุคคลไร้สัญชาติมีชีวิตอยู่บนภูเขาสูง ประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตตามบริบทของสังคมบนดอยจะมีนายจ้างที่ไหนรับรองเข้าทำงาน จะไปขอใบอนุญาตทำงานกับใคร"
ไม่เพียงแต่ใบประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องมีแล้ว ยังต้องมีบุคคลรับรองที่น่าเชื่อถืออีก 2 คนอีกด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกันในการที่จะขอให้นายจ้างเป็นผู้รับรอง เพราะส่วนใหญ่กลุ่มคนไร้สัญชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะมีผู้รับรองเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าชุมชนเท่านั้น ผลลัพธ์ไม่ได้ตกแค่เพียงกลุ่มค้าแรงงาน แต่ไปกระทบกับเด็กไร้สัญชาติแบบไม่ต้องสงสัย เมื่อเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้มีสัญชาติไทย การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ก็ยากตาม
อาบะ แชโปกู่ เด็กสาวชนเผ่าอาข่าวัย 19 ปี เกิดและโตในประเทศไทย แต่พ่อแม่อพยพจากประเทศพม่า พร้อมๆ กับการเป็นคนไร้สัญชาติทั้งครอบครัว ทำให้แทบจะไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาที่มีคุณภาพได้เลย
"กฎหมายใหม่ที่ออกมาก็ถือว่าให้โอกาสพวกเราได้มาก แต่อยากให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ในเรื่องของการหาหลักฐานด้านการประกอบอาชีพ พ่อแม่ของพวกหนูส่วนใหญ่ทำงานแต่ในไร่สวน ได้เงินค่าจ้างนิดเดียว จะหาใบประกอบอาชีพคงจะยาก ส่วนหาคนที่น่าเชือถือมารับรองก็มีแต่พวกเรากันเอง หรือผู้ใหญ่บ้านที่เราเคารพ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เรารู้จัก และเขียนหนังสือไม่ได้ ก็ยากที่เราจะได้เข้าถึงการเป็นคนไทย"
ด้าน มหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย องค์กรด้านสิทธิเด็กกล่าวปิดท้ายว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมาให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทยก่อนปี 2538 ได้มีโอกาสยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยนั้น ถือเป็นของขวัญสำหรับเด็กไร้สัญชาติให้มีตัวตนขึ้นมาได้ แต่เพียงหวังว่าหนทางในการเข้าถึงการได้สัญชาติของพวกเขาก็น่าจะง่ายขึ้นด้วย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live