xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ประพันธ์-ASTVหมิ่นแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องคดีทักษิณฟ้องแพ่ง “ประพันธ์ คูณมี-ASTV-เว็บไซต์ผู้จัดการ” เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ปี 51 กล่าวหาทุจริต-ไม่จงรักภักดี-เห็นแก่เงิน-บ้ากาม ชี้เป็นบุคคลสาธารณะประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์-รับฟัง ทั้งเป็นประโยชน์บ้านเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

วานนี้ (25 ธ.ค.) ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษากรณีคดีความระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบอำนาจให้ทนาย คือ นายพิชา ป้อมค่าย ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อ นายประพันธ์ คูณมี, บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. 2551 จำเลยที่ 1 (นายประพันธ์) ได้กล่าวหรือไขข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ จนทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ขณะที่จำเลยที่ 2 (บ.เอเอสทีวี) และจำเลยที่ 3 (บ.ไทยเดย์ฯ) ก็เป็นผู้โฆษณาเผยแพร่คำปราศรัยบนเวทีทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องเอเอสทีวี นิวส์วัน และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เว็บไซต์เอเอสทีวี-ทีวีด็อทคอม และสถานีวิทยุเอเอสทีวีเรดิโอ

หลังจากเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2553 ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง และโจทก์ได้อุทธรณ์คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้รับคดีไว้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 โดยคำพิพากษาวันนี้ของศาลอุทธรณ์ระบุว่า ในการวินิจฉัยคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 (นายประพันธ์) สามารถสรุปได้ว่าในวันเกิดเหตุมีการกล่าวหาโจทก์ใน 4 ประเด็น คือ

1. ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารราชการแผ่นดินเป็นที่เสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ญาติพี่น้องและพวกพ้อง มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 2. ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3. เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีชาติ ไม่มีประเทศ คิดแต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว 4. บ้าเซ็กซ์ บ้ากาม

โดยคำพิพากษาระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับตรงกันคือโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งย่อมหมายความว่าชีวิตและความเป็นส่วนตัวจะได้รับความคุ้มครองจากฎหมายน้อยกว่าสถาบันหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวหากได้รับการเปิดเผยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โจทก์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นผู้นำทางการเมืองที่มีบุคคลติดตามและสนับสนุน เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้บริหารในหลายรัฐบาลที่ปกครองหรือเคยปกครองประเทศ ดังนั้น ชีวิต การกระทำ การไม่กระทำ ความคิด จริยธรรม แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวย่อมได้รับการติดตามและตรวจสอบ สาธารณชนย่อมมีสิทธิและได้รับประโยชน์จากการตรวจสอบดังกล่าว

คำพิพากษาระบุด้วยว่า ปัญหาต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือหากไม่เป็นจริง จะเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวสารมิได้รู้ว่าเป็นความเท็จตามมาตรา 423 วรรคสองหรือไม่ จำเลยทั้งสามนำสืบพยานหลักฐานหลายประการซึ่งอ้างว่า ทำให้จำเลยทั้งสามเชื่อว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 (นายประพันธ์) กล่าวหากโจทก์เป็นจริง เช่นข้อเท็จจริงที่โจทก์ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 และโจทก์หลบหนีไปต่างประเทศจนศาลต้องออกหมายจับก็ดี การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ และประพฤติมิชอบขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ดี

การที่โจทก์ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประกอบพิธีศาสนสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งชาติ “พิธีทำบุญประเทศ” ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโจทก์นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ประทับโดยปกติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ชั้นสูงก็ดี การปล่อยให้บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับโจทก์เคลื่อนไหวในลักษณะท้าทายอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์ก็ดี หรือการที่โจทก์ใช้ชีวิตใกล้ชิดพบปะกับดาราหรือบุคคลในวงการบันเทิงที่เป็นสตรีในต่างประเทศก็ดี

เห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยน่าเชื่อได้ว่า ในขณะที่จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำ การไม่กระทำ ความคิด จริยธรรม แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวของโจทก์ จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งนี้อาจเกิดจากความครุ่นคิดฝักใฝ่ ความกระตือรือร้น ความรู้สึกส่วนตัวหรือความเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากพรรคพวก จึงทำให้จำเลยที่ 1 กล่าวหาโจทก์เช่นนั้น เมื่อโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับฟังความคิดเห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความสนใจในกิจการบ้านเมืองและการบริหารประเทศ ย่อมต้องถือเป็นประโยชน์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งทั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยยกย่องและเชิดชู

โจทก์ย่อมใช้บุคลากรและอุปกรณ์ที่โจทก์มีอยู่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความจริงในสายตาของโจทก์ ฝ่ายจำเลยเองก็ย่อมใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ได้เพียงแต่ฝ่ายจำเลยต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้องชอบธรรม รวมทั้งจริยธรรมและมารยาทในสังคมด้วย การกล่าวหากโจทก์ของจำเลยที่ 1 แม้บางประเด็นจะเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพอาจจะจะถึงขั้นหยาบคาย แต่ก็เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท ยังไม่ถือเป็นละเมิดตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อพิพาทอื่นเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น