เอเอฟพี - ประธานาธิบดีพม่า กล่าวกับสหประชาชาติวานนี้ (12 ก.ค.) ว่า ค่ายผู้ลี้ภัย หรือการเนรเทศออกจากประเทศ คือ ทางแก้ปัญหาสำหรับมุสลิมโรฮิงญาเกือบล้านคน ในเหตุความไม่สงบในพื้นที่ตะวันตกของประเทศ
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวกับหัวหน้าหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติว่า ชาวโรฮิงญาไม่เป็นที่ต้อนรับในพม่า หลังเกิดเหตุต่อสู้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 คนในรัฐยะไข่ เมื่อเดือนที่ผ่านมา
“เราจะรับผิดชอบต่อประชาชนที่เป็นเชื้อชาติของเรา แต่ไม่สามารถที่จะยอมรับโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายได้ และยังไม่ใช่เชื้อชาติของเราด้วย” ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
ผู้นำพม่าระบุว่า มีทางแก้ปัญหาเพียงทางเดียว คือ ส่งชาวโรฮิงญาที่มีอยู่ราว 800,000 คน ในพม่า ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR
“เราจะส่งพวกเขาไป หากประเทศที่สามจะรับพวกเขาไว้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังคิดว่า เป็นทางแก้ปัญหาของสถานการณ์นี้” ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ระบุ
เหตุความรุนแรงในชุมชนระหว่างชาวพุทธยะไข่ และขาวมุสลิมในท้องถิ่น รวมทั้งชาวโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นทั่วรัฐยะไข่ในเดือน มิ.ย. ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย บ้านเรือนถูกวางเพลิงได้รับความเสียหาย และทำให้ชุมชนต่างๆ ต้องแตกแยกจากกัน
สหประชาชาติระบุว่า การเลือกปฏิบัตินานหลายทศวรรษ ทำให้ชาวโรฮิงญาเป็นคนไร้สัญชาติ และรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าดำเนินมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวของโรฮิงญาไม่ให้ถือครองสิทธิที่ดิน การศึกษา และบริการสาธารณะต่างๆ
โรฮิงญาไม่เป็นที่ต้องการทั้งในพม่า และบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งพยายามเดินทางด้วยเรือมายังมาเลเซีย หรือไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา UNHCR ระบุว่า ในปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน อาศัยอยู่นอกพม่า และพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับการต้อนรับจากประเทศที่ 3 ขณะที่บังกลาเทศ ผลักดันเรือโรฮิงญาที่พยายามจะขึ้นฝั่งกลับออกไปนับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบในพม่า.