xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนิรันดร์” ชี้ไทยเป็นไข่แดง ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่รู้จบ วงเสวนาเสนอให้สถานะ-เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
กสม.จัดสัมมนาข้อเสนอแนะแก้ไข พ.ร.บ.คนเข้าเมือง “หมอนิรันดร์” ชี้ปัญหาผู้ลี้ภัยเกิดจากการรวมอำนาจไว้ส่วนกลาง ยึด ปชต.เหนือดินแดน และเป็นประเทศไข่แดง ติดกับเพื่อนบ้านที่มีปัญหา พบแนวโน้มปัญหาผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัย มีมากขึ้น ด้าน ปธ.อนุฯ สภาทนายความ เสนอรัฐบาลดูแลให้สถานะ และจัดให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กต้องอยู่ร่วมกันกับพ่อ-แม่

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522” โดย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักสิทธิในการขอลี้ภัยในกฎหมายคนเข้าเมือง” ว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.บุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และ 2.ผู้ลี้ภัยการสู้รบจากพม่า

ทั้งนี้ สถานะทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยในไทยนั้น ไทยไม่ได้ลงนามเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 หรือพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 จึงไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยโดยตรง โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้กำหนด ว่า ผู้หนีภัยการสู้รบ เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ ในสมัยก่อนไทยเคยดูแลผู้ลี้ภัย และให้สิทธิเป็นช่วงๆ ซึ่งได้รับการจดทะเบียนมีบัตรประจำตัว และได้รับสิทธิอาศัยในประเทศไทยชั่วคราว บางกลุ่มได้รับสิทธิอาศัยถาวร บางกลุ่มสามารถแปลงสัญชาติเป็นคนไทยได้ แต่ในปัจจุบันไทยได้จัดให้กลุ่มผู้ลี้ภัยอยู่ในพื้นที่ควบคุม และไม่จัดทำเอกสาร หรือให้สิทธิใดๆ ไม่มีงบประมาณดูแล และพยายามส่งกลับประเทศต้นทาง

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอรัฐบาลไทย 5 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐต้องดูแลและให้สถานะผู้ลี้ภัย ต้องรับรองออกเอกสารยืนยันการเป็นคนให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับเอกสารรับรองจากรัฐให้เป็นบุคคลรับรองตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ ระบุชัดเจนทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกฎหมายการทะเบียนราษฎร 2. ต้องให้อิสระและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ทั้งเรื่องการเดินทาง การศึกษา และการแสดงออกทางวัฒนธรรม เนื่องจาคนเหล่านี้เป็นคนบริสุทธิ์ไม่มีความผิด ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านี้ที่อยู่มนการดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้

3. เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแล เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ และบุคลากร ทั้งๆ ที่เรามีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาช่วยจัดการ คนเหล่านี้ไม่ได้มีความผิดในไทยเพียงแต่รอเวลากลับไป รัฐบาลต้องดูแลและช่วยเหลือเขาระหว่างที่อยู่ในประเทศ 4. เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาและครอบครัวต้องอยู่ร่วมกัน และ 5. หากเป็นคนไร้สัญชาติ หรือไม่มีประเทศต้นทาง ก็เป็นหน้าที่ของไทยต้องดูแล เพราะว่าในหลักการคนหนึ่งคนต้องมีรัฐอย่างน้อยๆ หนึ่งรัฐเข้ามาดูแลเขา สิ่งเหล่านี้ตนไม่ได้พูดของสิทธิในการขอลี้ภัยแต่พูดถึงหน้าที่ในการดูแลผู้ลี้ภัย ทุกฝ่ายต้องยอมรับความเป็นจริงของผู้ลี้ภัย ปฏิบัติด้วยความรัก เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลและปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการอพยพและผู้ลี้ภัยเกิดจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ 1.ประเทศไทยยังยึดมั่นการเป็นรัฐชาติเดียวและรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะการยึดหลักประชาธิปไตยเหนือดินแดน ทำให้รัฐยึดหลักความมั่นคงแห่งรัฐเหนือความมั่นคงของมนุษย์ 2.เราพบว่า ขณะนี้ปัญหาการละเมิดสิทธิกรณีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมีมากขึ้น เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศและรัฐได้ จำเป็นต้องยึดหลักเรื่องความเป็นธรรมของคนและสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นไทยที่เป็นประเทศไข่แดงมีประเทศติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีปัญหาเรื่องอพยพผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการดูแลละถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา เช่น ปัญหาชาวโรฮิงญาที่มีมานานตั้งแต่ก่อนตนเข้ามารับตำแหน่ง กสม.โดยเราพบว่ายังไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้เห็นความสำคัญเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน และเปิดประเทศมากขึ้น แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐยะไข่ เราไม่อยากให้สถานการลุกลาม และเป็นสงครามของเชื้อชาติศาสนา

ทั้งนี้ ในฐานะ กสม.มีอำนาจหน้าที่ไม่ใช่เฉพาะการตรวจสอบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำมาซึ่งการแก้ไขข้อกฎหมายที่นำมาสู่การคุ้มครองสิทธิของประชาชน แม้ว่าจะไม่ใช่คนไทยก็ตาม เพื่อดูแลพี่น้องในเขตประชาคมอาเซียนร่วมกัน ถึงแม้ว่าขณะนี้ไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาดูแลผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย แต่ในรัฐธรรมนูญได้รับรองดูแลเรื่องศักดิ์ความเป็นมนุษย์ความเสมอภาคในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะคนไทย หรือคนต่างชาติ การเปิดเสรีประเทศภูมิภาคอาเซียน ไม่ได้เน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องนึกถึงคนด้วย ทั้งคนชายขอบ ผู้ลี้ภัยจากสงคราม หรือความแตกต่างชาติ ศาสนา ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักให้การดูแลด้านสิทธิมนุษยชน
กำลังโหลดความคิดเห็น