xs
xsm
sm
md
lg

ปู่กะเหรี่ยงแก่งกระจานวัย 101 ฟ้องศาลปกครองฟัน ทส.ส่ง จนท.เผาบ้าน - ขอกลับคืนถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาทนายความ นำ “ปู่คออี้” ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจาน วัย 101 ปี ยื่นศาลปกครองฟันกรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ เหตุ จนท.เผากระท่อมไล่พ้นเขตป่า พร้อมขอศาลสั่งให้ชาวบ้านคืนถิ่นด้วย





วันนี้ (4 พ.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ พร้อมด้วย นายโคอิ หรือ “ปู่คออี้” มีมิ อายุ 101 ปี ชาวกะเหรี่ยงดั่งเดิมซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณในป่าพื้นที่แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยนายแจ พุกาด, นายหมี หรือคิตา ต้นน้ำเพชร, นายบุญชู พุกาด, นายเกื้อ พุกาด, นายดูอู้ จีโบ้ง ที่ถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รื้อทำลาย เผาบ้าน ยุ้งฉาง ทรัพย์สิน และขับไล่ออกจากพื้นที่ที่อาศัยภายในป่าแก่งกระจานที่ได้อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ร่วมกันยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ชาวบ้านมีสิทธิสามารถกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ตามเดิม

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การฟ้องครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค. 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์ของนายโคอิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณ ต.ห้วยแม่เพียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกเผาไปกว่า 100 หลังคาเรือน ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า ทั้งที่นายโคอิและชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดในพื้นที่ได้ตั้งรกรากบนพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบางกลอย ที่บ้านบางกลอยบน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน มาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี หลายชั่วอายุคน ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนแบบพอเพียง

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น นายโคอิกับพวกรวม 6 คนจึงได้ยื่นร้องศาลปกครองขอให้มีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะของผู้ดูแลหน่วยงาน และนายชัยวัฒน์ เนื่องจากไม่ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจปกครองที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง ที่เลือกวิธีเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านไม่ใช่มาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุดแต่อย่างใด จึงไม่เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยงที่เป็นคนในท้องถิ่นเดิม ก่อนจะมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า การกระทำของนายชัยวัฒน์จึงเป็นการละเมิดสิทธิของทั้ง 6 คน ทำให้สูญเสียพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิต ทรัพย์สิน และการดำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม จึงขอให้ผู้ถูกร้องทั้งหมด ร่วมกันจ่ายค่าชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 9,533,090บาท และขอสิทธิกลับเข้าไปอาศัยในพื้นที่เช่นเดิม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนี้ต่อไป

“ผมได้ทราบมาด้วยว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 จังหวัดภาคตะวันตก 5 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายพิทักษ์รักป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชมรมอนุรักษ์เมืองกาญจนบุรี เครือข่ายประชาสังคมราชบุรี เครือข่ายประชาคมราชบุรี ร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษนายชัยวัฒน์ ที่ได้มีคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดกฎหมาย รื้อทำลายเผาบ้าน ต่อ ผบช.ภ.7 เพื่อเอาผิดกับนายชัยวัฒน์ จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเครือข่ายอนุรักษ์ป่า แต่กลับมาฟ้องร้องฝ่ายที่ดำเนินการต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า” นายสุรพงษ์กล่าว

ด้าน นายโคอิได้เล่าว่า เหตุการณ์ในวันที่ถูกเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ มาจับกุมนั้น ตนไม่เห็นเหตุการณ์เนื่องจากตาเป็นต้อกระจก แต่จำได้ว่ามีการพาลงมาจากบ้านเพื่อเดินไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่จอดอยู่เพื่อมาด้านนอกป่า และหลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงไฟไหม้บ้านทันที และคนอื่นๆ ก็ยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวน 14 นายพร้อมอาวุธเข้าไปจับกุมชาวบ้านและรื้อถอนทำลายบ้านเรือน









กำลังโหลดความคิดเห็น