ไมตรี จงไกรจักร
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นไปจำนวน 6 คนเดินทางไปพบกับสื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น เนชั่น คมชัดลึก เดลินิวส์ แนวหน้า มติชน ช่อง 5 ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 11 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเอง ให้สื่อมวลชนเห็นถึงปัญหาจากร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ มาตรา 3 ที่จะส่งผลต่อพี่น้องไทยพลัดถิ่น 90 เปอร์เซ็น ที่อยู่ในเครือข่ายฯ จะไม่สามารถเข้ารับสิทธิตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่กำลังจะผ่านที่ประชุมวุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2555 นี้
“อีกสองเดือนหนูก็จะจบ ม.3 แล้ว หนูก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน อนาคตหนูจะเป็นอย่างไร ฐานะทางบ้านหนูก็ยากจนเสียเหลือเกิน ปัญหาใหญ่ระดับประเทศก็รุมเร้าจนหนูเองเกือบจะหมดหวังกับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้แล้ว หนูเป็นคนไร้สัญชาติ มันทำให้หนูมองไม่เห็นอนาคตตัวเองเลย ความฝันหนูคงต้องพังทลายลงแน่ เส้นทางชีวิตที่หนูฝันไว้ หนูอยากเป็นนักพัฒนาชุมชน อยากนำความรู้ไปพัฒนาหมู่บ้าน” ชาลิด้า ขุนภักดี กล่าวอย่างสิ้นหวัง
“ถ้ายายมีโอกาสได้บัตรประชาชนแล้วยายตาย ไม่ต้องไปแจ้งตายหรอก...ให้เผาบัตรประชาชนพร้อมไปกับยาย เผื่อเกิดชาติหน้า..ยายจะได้เกิดเป็นคนมีบัตรประชาชน” ยายบี วัย 63 ปี ตอกย้ำอีกคน
เด็กๆ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง กำลังเร่งมือเก็บของใส่กระเป๋า เตรียมข้าวสาร หม้อ กะละมัง ฯลฯ ขนขึ้นรถ เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
“เร่งมือเข้าหน่อย เสาร์ อาทิตย์นี้แหละอาจเป็นครั้งสุดท้ายของการต่อสู้ของพวกเรา หรือลุงอาจจะตายเสียก่อนที่จะได้บัตร ก็ได้ยังไม่รู้เลย เครื่องหนังตะลุงเอาขึ้นรถด้วย แล้วคณะมโนราห์เขาจัดของขึ้นรถเรียบร้อยหรือยัง เราไปนอนหน้ารัฐสภากันเลยนะเตรียมให้พร้อม” ผู้อาวุโสของเครือข่ายตะโกนบอก
เมื่อปี 2554 ขบวนคนไทยพลัดถิ่นได้เดินเท้าจากด่านสิงขร ถึงรัฐสภา เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสัญชาติ ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น จนผ่านวาระ 1-2-3 ของสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) สามวาระรวด
ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว กำลังอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ วุฒิสภา ปัญหาก็คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ ตัดและเพิ่มเติมตัวบท ในมาตรา 3 จนทำให้คนไทยพลัดถิ่นที่พยายามผลักดันกฎหมายนี้ ไม่มีโอกาสจะได้สัญชาติไทยอีกต่อไป
สารสำคัญอยู่ที่การกำหนดคำนิยาม “คนไทยพลัดถิ่น” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ
ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ผ่านมา กรมการปกครองไม่เคยออกประกาศสำรวจ “คนไทยพลัดถิ่น” เป็นการเฉพาะ มีแต่การสำรวจชนกลุ่มน้อย และคนไร้สถานะทางทะเบียนฯ เท่านั้น แน่นอน อาจจะมีชื่อคนไทยพลัดถิ่นบางส่วนอยู่ในจำนวนนั้นบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อย ดังนั้น การตัดออกและเพิ่มเติม เนื้อความในมาตรา 3 ทำให้คนไทยพลัดถิ่น ที่ออกมาผลักดันกฎหมายนี้ ตกหล่นไม่ได้รับสัญชาติเกือบทั้งหมด
กรณีข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา ที่ว่าจะมีคนนอกที่ไม่ใช่คนไทยจะอาศัยกฎหมายฉบับนี้ขอสัญชาติไทยเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องตัดและเพิ่มเติมตัวบทในมาตรา 3 นั้น
ข้อเท็จจริงก็คือ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุจะให้สัญชาติไทยเฉพาะ “ผู้มีเชื้อสายไทย....และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง” แล้วเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบจากบ้านที่อยู่อาศัยจริงได้ชัดเจนในทุกชุมชน
อันที่จริงแล้ว ร่างกฎหมายนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะกำหนดให้มี คณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ฝ่ายความมั่นคง นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์/พิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งจะเป็นกระบวนการและกลไกในการแก้ไขปัญหาที่โปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมได้มากกว่าที่ผ่านมา
เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น จึงนำเรื่องราวชีวิตความเป็นจริงของคนในซอกหลืบของสังคมมาเปิดเผยอีกครั้ง โดยเปิดเวทีสื่อสารต่อสาธารณะ “ไทยพลัดถิ่นชี้แจงสมาชิกวุฒิสภากรณีมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ” ที่หน้ารัฐสภามาตั้งแต่เวลา 17.00 น.วันที่ 28 มกราคม 2555
เวลา 10.00 น.วันที่ 29 มกราคม 2555 ก็ได้เปิดเวทีเสวนามาตรา 3 ทำลายโอกาสไทยพลัดถิ่นได้พิสูจน์ตัวตน ต่อด้วยเวทีวัฒนธรรมทำความเข้าใจมาตรา 3 ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ
วันที่ 30 มกราคม 2555 รณรงค์และยื่นข้อเสนอต่อประธานวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการวุฒิสภาทุกคณะ พร้อมกับส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังการประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
“เมื่อไหร่......กรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา และผู้มีอำนาจจะเข้าใจเราสักที เมื่อไหร่จะเลิกพูดถึงความมั่นคง เมื่อไหร่จะเลิกมองว่าเราเป็นตัวร้ายทำลายความมั่นคง และเมื่อไหร่คุณจะคืนความมั่นคงในชีวิตให้พวกเราคนไทยพลัดถิ่นเสียที...
หากพี่น้องไทยพลัดถิ่นคือคนที่จะเป็นตัวทำลายความมั่นคง ได้โปรดฆ่าพวกเราเสียเถอะ หรือสร้างเรือสร้างแพขนาดใหญ่ แล้วขนพวกเราไปทิ้งกลางทะเลก็ได้ เราไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม เพราะแม้แต่คนที่ร่วมสายเลือดยังไม่เชื่อว่า เราคือสายเลือดเดียวกัน.....
มันไม่มีประโยชน์เลยที่พวกเราจะต้องอยู่บนโลกใบนี้ แบบคนไร้ตัวตนในสังคมเช่นนี้อีกต่อไป โปรดพิจารณา” อาริฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ เยาวชนที่เติบโตผ่านกระบวนการต่อสู้มา 10 ปีเต็ม พูดออกมาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ