จารยา บุญมาก
ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบราชการ ผูกโยงอยู่กับปัญหาค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพ ภาระงานที่หนักอึ้งอย่างแยกไม่ออก กลายเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังในวงการสาธารณสุขไทย ขณะที่การแก้ไขปัญหายังคงมืดมนหาทางออกได้ยากยิ่ง
“ใน 1 วัน จะมีแพทย์ 1 คน รับหน้าที่ตรวจวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยประมาณ 100-120 ราย ขณะที่อัตราการกระจายแพทย์ของประเทศไทยนั้น ยังอยู่ที่แพทย์ 1 คนต่อระชากร 10,000 คน ซึ่งนับว่าขาดแคลนอย่างมาก และการเผชิญภาวะของความเหนื่อยหนักในพื้นที่ชนบท ก็ทำให้รู้ว่า ความสามารถในการแบกรับภาระของแพทย์แต่ละคนก็เริ่มลดน้อยถอยลงทุกที” นพ.ชรินทร์ ดีปินตา รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บ้านหลวง อ.บ้านหลวง จ.น่าน และรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) น่าน กล่าวถึงการทำหน้าที่ในฐานะแพทย์ชนบทประจำโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) บ้านหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร
นพ.ชรินทร์ มองปัญหาในวงกว้าง ว่า ความขาดแคลนแพทย์และการรับภาระรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทย และคนไร้สัญชาติ เป็นเรื่องปกติของ รพช.ที่ติดชายแดนต้องพบเจอ โดยในช่วงฤดูหนาวผู้ป่วยนอกจะหลั่งไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ ประมาณ 100-120 คนต่อวัน เนื่องจากเกิดการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินหายใจมาก และเข้าถึงยาได้น้อย จึงต้องมาเข้ารับบริการตามรพช.ที่ใกล้ที่สุด
เมื่อถามถึงกรณีที่ภาครัฐมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD ว่า สามารถพยุงสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด นพ.ชรินทร์ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วการบังคับให้แพทย์จบใหม่ในโครงการดังกล่าวประจำการตามชนบทนานประมาณ 3 ปี เป็นโครงการที่น่ายกย่องในเรื่องของคุณภาพการศึกษาทำให้เด็กในชนบทได้เข้าสู่อาชีพแพทย์มากขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ช่วงชดใช้ทุนนั้นช่วยแบ่งเบาภาระของ รพ.ได้ประมาณ 20 -30% และคงจะเป็นการดีหากขยายเวลาเพิ่มเติมเพื่อให้แพทย์จบใหม่ได้ทำหน้าที่ แต่เรื่องจำนวนปีที่เหมาะสมนั้น โดยส่วนตัวมองว่า 4-5 ปี น่าจะเหมาะสม และจะดีมากหากนำโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ หรือ ODOD ที่ต้องชดใช้ทุนนาน 12 ปี มารวมกันแล้วแบ่งงบประมาณกระจายไปให้พอ เพื่อที่จะได้นำเวลามาหารกันสองโครงการ แต่คงต้องสอบถามความเห็นของแพทย์ที่เป็นนักศึกษารุ่นใหม่ และศึกษาสถานการณ์การขาดแคลนแพทย์ในภาพรวมทั้งประเทศ
แม้ นพ.ชรินทร์ จะไม่แสดงความเห็นเรื่องของสัดส่วนค่าตอบแทนที่เหมาะสม แต่ก็ยังเชื่อเสมอว่า หาก สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนได้ดี การแบ่งค่าตอบแทนที่เหมาะสมก็จะตามมาเอง เพราะถึงอย่างไรความลำบากของแพทย์ในชนบทและแพทย์ในเมืองย่อมต่างกันด้วยบริบททางสังคมอยู่แล้ว
ทว่า ในมุมมองของ นักศึกษาแพทย์อย่าง นศพ.ธวัชสภณ ธรรมบำรุง นายกสหพันธ์นักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) ระบุอย่างชัดเจนว่า หากแพทย์มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่จริงๆ ไม่ได้เกี่ยงเรื่องของค่าตอบแทนแน่นอน เพราะเป้าหมายของ นศ.แพทย์หลายคน พยายามจะเรียนต่อเพื่อพัฒนาด้านสาขาวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าโครงการ CPIRD ย่อมเป็นผลดี แต่เรื่องของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทาง สพท.ต้องขอเวลาในการรวมรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อ ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพต่อไป
ขณะที่ นพ. มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการหารือครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการดำเนินงานในโครงการ CPIRDว่า จำเป็นต้องมีการเพิ่มค่าปรับเพิ่มจาก 4 แสนบาท เพราะเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการหารายได้ของแพทย์ในปัจจุบัน และการลงทุนของรัฐบาลในการผลิตแพทย์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 1.8 ล้านบาท นั้นสูงกว่าค่าปรับหลายเท่า ส่วนการขยายเวลาการใช้ทุน มีข้อเสนอให้ทบทวนการเพิ่มระยะเวลาให้รอบคอบ โดยอาจหามาตรการเสริมให้แพทย์อยู่ปฏิบัติงานครบ 3 ปี หากจะปรับระยะเวลาชดใช้ทุนเป็น 6 ปี ควรพิจารณาระยะเวลาที่จะอนุญาตให้ศึกษาต่อด้วย เพราะความต้องการไปศึกษาต่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญและเป็นสาเหตุให้แพทย์ลาออกก่อนกำหนด ทั้งนี้ การไปศึกษาต่อต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ