คกก.กำลังคนด้านสุขภาพ ถกร่วมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สพท. แพทย์ศิษย์เก่า CPIRD หาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท ชงขยายโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คงเพิ่มค่าปรับ แต่ทบทวนระยะเวลาใช้ทุนให้รอบคอบ เร่งหามาตรการจูงใจให้อยู่ในชนบท และไม่ปิดโอกาสเรียนต่อ
จากกรณีสหพันธ์นักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) ทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ว่า สพท.สนับสนุนการขยายโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือที่เรียกว่า CPIRD แต่ไม่สนับสนุนข้อเสนอการเพิ่มเวลาชดใช้ทุน และเพิ่มเงินค่าปรับ ทั้งนี้ เพราะมีความห่วงกังวลใน 3 ประเด็น คือ 1) การเพิ่มค่าปรับและเวลาชดใช้ทุนเป็นมาตรการเชิงลบ อาจทำให้นักเรียนสนใจเรียนแพทย์น้อยลง 2) ประชาชนต้องการรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางมากกว่าแพทย์ทั่วไป แพทย์จึงต้องไปศึกษาต่อ และ 3) การเพิ่มจำนวนผู้ศึกษาในโครงการ CPIRD ให้ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ศึกษาในหลักสูตรปกติ ควรมีการศึกษาอย่างรอบคอบ
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นร้องเรียนข้างต้นโดยมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมชัย นิจพานิช ผู้ดูแลโครงการ CPIRD และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้แทนจาก สพท.ได้แก่ นายก สพท.และนักศึกษาแพทย์ที่เป็นสมาชิก นักวิชาการด้านกำลังคนสุขภาพ และแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนที่สำเร็จหลักสูตรทั่วไป และ แพทย์ CPIRD ร่วมหารือ โดยที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทยังคงมีอยู่ สัดส่วนของแพทย์ไทยต่อประชากรยังคงต่ำมาก โรคที่ชาวชนบทต้องการแพทย์ดูแลนั้นเป็นโรคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จึงต้องการแพทย์ทั่วไปในการให้บริการ หากเกิดปัญหาก็มีระบบส่งต่อที่จะช่วยได้ ส่วนแพทย์เฉพาะทางนั้น ปัจจุบันมักมีปัญหาการกระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่เพียงเท่านั้นการเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทาง มักเป็นความต้องการของผู้เรียน มิใช่การไปเรียนตามสาขาที่ขาดแคลน จึงเกิดปัญหาแพทย์เฉพาะทางบางสาขา เช่น บริการความงาม ล้นตลาด
โครงการ CPIRD เป็นความพยายามในการสรรหานักเรียนในชนบท มาเรียนแพทย์ เพื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชนบท แต่การสอบเข้าเรียนยังเน้นความรู้ด้านวิชาการเป็นหลัก ทำให้เด็กในเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันได้เปรียบในการสอบเข้า เมื่อจบการศึกษา จึงไม่สามารถอยู่ในชนบทได้นาน อีกทั้งการผลิตแพทย์ในโครงการ CPIRD ยังขาดกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับพื้นที่ที่จะไปปฏิบัติงาน การจัดสรรทุนเป็นการจัดสรรผ่านคณะแพทย์ศาสตร์ แทนที่จะเป็นการจัดสรรทุนผ่านโรงพยาบาลและชุมชนที่จะต้องกลับไปใช้ทุน
นพ.มงคล กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 อีกว่า ที่ประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาเงื่อนไขในการผลิตแพทย์ในโครงการ CPIRD ที่สำคัญ คือ 1) ควรปรับปรุงเงื่อนไขโครงการให้ตอบสนองเป้าหมายการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต้องให้โอกาสกับเด็กในชนบทจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขควรเตรียมความพร้อม และเสริมศักยภาพของนักเรียนในพื้นที่ตั้งแต่มัธยมปลาย 2) ควรให้ทุนผ่านโรงพยาบาลและชุมชนในพื้นที่เพื่อสร้างความผูกพันหลังสำเร็จการศึกษา 3) ควรปรับปรุงหลักสูตร โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชุมชนผ่านการฝึกงานจริงในชนบท 4) สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายแพทย์ CPIRD เพื่อช่วยให้กำลังใจ และเห็นคุณค่าร่วมกันของการทำงานในชนบท ทั้งนี้ สพท.จะสื่อสาร ชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ของหลักสูตร และความต้องการที่แท้จริงของระบบบริการสุขภาพ โดยเชิญแพทย์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ตรงมาเป็นวิทยากรผ่านโครงการ “เปิดรั้วโรงเรียนแพทย์” ด้วย
“ที่ประชุมในวันนั้น เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าปรับเพิ่มจาก 4 แสนบาท เพราะเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการหารายได้ของแพทย์ในปัจจุบัน และการลงทุนของรัฐบาลในการผลิตแพทย์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 1.8 ล้านบาท นั้นสูงกว่าค่าปรับหลายเท่า ส่วนการขยายเวลาการใช้ทุน มีข้อเสนอให้ทบทวนการเพิ่มระยะเวลาให้รอบคอบ โดยอาจหามาตรการเสริมให้แพทย์อยู่ปฏิบัติงานครบ 3 ปี หากจะปรับระยะเวลาชดใช้ทุนเป็น 6 ปี ควรพิจารณาระยะเวลาที่จะอนุญาตให้ศึกษาต่อด้วย เพราะความต้องการไปศึกษาต่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญ และเป็นสาเหตุให้แพทย์ลาออกก่อนกำหนด ทั้งนี้ การไปศึกษาต่อต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ”