สธ.เร่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยภาวะวิกฤตออกจากพื้นที่น้ำท่วมใน กทม. ตั้งเป้ากระจายสู่ภูมิภาคให้ได้ 100 รายใน ภายใน 26 ต.ค.นี้
วันนี้ (26 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้บริหาร สธ. และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า ในส่วนของ สธ.คงต้องเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาในส่วนของพื้นที่ปริมณฑล อย่าง จ.ปทุมธานี นนทบุรี เสี่ยก่อน โดยต้อเร่งสำรองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริการผู้ป่วยทั้งที่ถูกเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยทั่วไปในพื้นที่ประสบภัย และศูนย์อพยพ ศูนย์พักพิงด้วย จึงขอสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และ สสจ. เตรียมความพร้อมในการรับมือด้วย
“นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต จัดทำแผนการฟื้นฟูสุขภาพจิตประชาชน ทั้งในจุดพักพิง ตามบ้านเรือน และกลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ชัดเจนเป็นแผนต่อเนื่อง และให้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และสภาการพยาบาล ระดมทรัพยากรกำลังนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา มาร่วมดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยด้วย ” นายวิทยากล่าว
ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ขอความร่วมมือ รพ.ทุกแห่งให้พยายามช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดแต่หากเกินความสามารถให้โทรประสานงาน งานส่วนกลางได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ สำหรับแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั้น ในเบื้องต้นให้ รพ.มีการวางแผนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. ไป รพ.ในภูมิภาค จะเน้นกลุ่มผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ก่อน โดยเริ่มจากจังหวัดในปริมณฑล ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และโรงพยาบาลอ่างทอง ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี คาดว่าจะเริ่มย้ายในวันนี้ประมาณ 50-100 ราย ภายในวันที่ 26 ต.ค.นี้ พร้อมกับมีเครื่องมือแพทย์พร้อมบุคลากรการแพทย์ติดตามไปดูแลด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และนอกจากนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัด เลื่อนการนัดผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถรอได้ออกไปก่อน และขอความร่วมมือกับญาติ และผู้ป่วยที่อาการปลอดภัยแล้ว ไปนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เพื่อสำรองเตียงให้ว่างไว้เพื่อรับผู้ป่วยหนักจาก กทม.
“อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภูมิภาคที่มีการรองรับผู้ป่วยวิกฤตนั้น แม้ รพ.ทุกสังกัด ทั้ง กทม. กรมการแพทย์ สธ.โรงเรียนแพทย์ จะมีการเตรียมความพร้อมแล้วก็ตาม แต่บางแห่งก็มีจำนวนเตียงรองรับที่จำกัด เช่นกรณี รพ.สิงห์บุรี อ่างทอง นั้นขณะนี้รองรับได้แค่ราว 200 ราย ก็ต้องเข้าไปเพิ่มมาตรฐานใหม่ คือ อาจจะส่งบุคลากรเข้าไปเสริมเพื่อร่วมดูแล ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่อาการทั่วไปซึ่งอาจสามารถช่วยตัวเองได้ขอ ผอ.รพ.ได้มีการประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเองแล้วอาจใช้วิธีการเจรจา กับโรงพยาบาลชุมชน หรืออาจเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อกระจายการบริการผู้ป่วยร่วมกัน” นพ.ไพจิตร์ กล่าว