ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ประชาคม ม.ทักษิณ” ยังเดินหน้าค้านตั้ง “นายกสภามหาวิทยาลัย” ที่ผ่านกระบวนการไม่โปร่งใส ร่อนหนังสือจี้ “เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา” ขอให้ยับยั้งการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยให้เหตุผลละเอียดยิบ 4 ข้อที่ขาดความเป็นธรรม หลังนำคณะยื่นจดหมายให้ประธานกรรมการสรรหา และอธิการบดีมาแล้วแต่ไม่เป็นผล
จากกรณีประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน ได้เคลื่อนไหวคัดค้านผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยคนใหม่ว่าไม่เหมาะสม เพราะผ่านการบวนการสรรหาที่ขาดความโปร่งใส และไม่เป็นธรรม โดยนายไพฑูรย์ ศิริรักษ์ รองประธานสภาสภาคณาจารย์และพนักงาน คนที่ 2 ได้เคยนำคณะเข้าเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อ ศ.ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต ประธานกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ และ รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดี ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์ รองประธานสภาสภาคณาจารย์ และพนักงาน คนที่ 2 ในฐานะผู้แทนคณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า ตนและคณะได้ทำหนังสือเรื่อง “ขอยับยั้งการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ” ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาในเรื่องนี้แล้ว โดยเนื้อหาในหนังสือประกอบด้วย
สำนักงานสภาคณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ขอยับยั้งการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เรียน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
สืบเนื่องจาก นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยทักษิณ มีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ และมหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๔ (เอกสารหมายเลข ๑) และข้อบังคับว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.๒๕๕๔ (เอกสารหมายเลข ๒) เพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทักษิณได้กระทำการที่ไม่เป็นตามข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้องหลายประการ กล่าวคือ
๑.การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๔ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.๒๕๕๔ ข้อที่ ๖ ที่ระบุว่า “ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน...ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อทำหน้าที่สรรหา...” แต่จากคำสั่งสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ ๒/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย สั่ง ณ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ (เอกสารหมายเลข ๓) และคำสั่งสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ ๓/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ สั่ง ณ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ (เอกสารหมายเลข ๔) มีระยะเวลาก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งร้อยสิบเอ็ดวัน คำสั่งสภามหาวิทยาลัยทักษิณทั้ง ๒ ฉบับ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ
๒.การได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามข้อบังคับ
๒.๑ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗ วรรค ๓ กำหนด “ให้อธิการบดีเป็นประธานเรียกประชุมหัวหน้าส่วนงานวิชาการและหัวหน้าส่วนงานอื่น เพื่อให้ที่ประชุมเลือกกันเอง โดยไม่ให้ประชาสัมพันธ์ หรือหาเสียงให้ตนเอง หรือผู้อื่น เพื่อให้ได้ซึ่งกรรมการตาม (๖)” แต่ตามหนังสือบันทึกข้อความ (เอกสารหมายเลข ๕) ได้มอบรองอธิการบดี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วสันต์ กาญจนมุกดา) ดำเนินการจัดประชุมหัวหน้าส่วนงานวิชาการและหัวหน้าส่วนงานอื่น เพื่อเลือกกรรมการสรรหาตามข้อ ๗ (๖)
๒.๒ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗ วรรค ๔ กำหนด “ให้สภาคณาจารย์และพนักงานดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการตาม (๗) และ (๘) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย” สภาคณาจารย์และพนักงานจึงได้ดำเนินการตามข้อบังคับนี้ โดยมีหนังสือบันทึกข้อความไปยังบุคลากรเพื่อร่วมเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกกรรมการ (เอกสารหมายเลข ๖) และสภาคณาจารย์และพนักงาน ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันพุธ ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๔ พิจารณาคัดเลือกผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณประเภทคณาจารย์ประจำคนหนึ่ง และผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่คณาจารย์ประจำคนหนึ่ง เข้าเป็นคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย (เอกสารหมายเลข ๗) และได้มีหนังสือบันทึกข้อความแจ้งให้หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ (เอกสารหมายเลข ๘) เพื่อเสนอรายชื่อให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งต่อไป แต่ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ ๗/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ได้พิจารณาเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ไม่ปรากฏการแต่งตั้งรายชื่อผู้แทนฯ ที่สภาคณาจารย์และพนักงานไปให้ แต่สภามหาวิทยาลัยกลับได้มีมติ “มอบให้อธิการบดีและประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน ร่วมหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่โปร่งใสในการได้มาซึ่งผู้แทน...” (เอกสารหมายเลข ๙) สภาคณาจารย์และพนักงานจึงมีหนังสือบันทึกข้อความถึงอธิการบดี เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อยืนยันการเสนอชื่อผู้แทนฯ (เอกสารหมายเลข ๑๐) และมีหนังสือบันทึกข้อความถึงนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อยืนยันการเสนอชื่อผู้แทนฯ ตามที่สภาคณาจารย์และพนักงานได้ดำเนินการตามข้อบังคับแล้ว (เอกสารหมายเลข ๑๑)
๒.๓ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีคำสั่งที่ ๒๔๘๓/๒๕๕๔ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ได้มาซึ่งรายชื่อผู้แทนคณาจารย์ประจำ และผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่คณาจารย์ประจำ เพื่อสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ สั่ง ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ แต่สภาคณาจารย์และพนักงานก็ได้ทำการคัดค้านคำสั่งนี้ (เอกสารหมายเลข ๑๒) จนกระทั่งมีคำสั่งที่ ๐๑๒๕/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ได้มาซึ่งรายชื่อผู้แทนคณาจารย์ประจำ และผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่คณาจารย์ประจำ เพื่อสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ สั่ง ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ (เอกสารหมายเลข ๑๓)
การกระทำของมหาวิทยาลัยโดยใช้อำนาจของอธิการบดีออกคำสั่ง เพื่อสั่งการให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งผู้แทนฯ เพื่อเป็นกรรมการสรรหา เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยข้อบังคับที่สามารถปฏิบัติได้
๓.กระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย กระทำไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้อง
๓.๑ ตามข้อบังคับ ข้อที่ ๑๐ (๒) กำหนดวิธีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย โดย “ให้ส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่นประชุมคณะกรรมการประจำส่วนงาน เพื่อเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วนงานละ ๑ ชื่อ” แต่ปรากฏว่า มีส่วนงานวิชาการจำนวน ๒ หน่วยงานที่ไม่ได้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย คือ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ และคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา (เอกสารหมายเลข ๑๔) ซึ่งการเสนอชื่อดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามวิธีการสรรหาตามที่ข้องบังคับกำหนดไว้
๓.๒ ตามข้อบังคับ ข้อที่ ๑๔ กำหนด “ให้คณะกรรมการสรรหามีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย...” และคณะกรรมการสรรหาได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย (เพิ่มเติม) “ให้ส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่นประชุมผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยซึ่งสังกัดส่วนงานนั้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และให้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการประจำส่วนงาน เพื่อพิจารณากลั่นกรองชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหา ส่วนงานละ ๑ ชื่อ (เอกสารหมายเลข ๑๕) ซึ่งหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย (เพิ่มเติม) คณะกรรมการสรรหาไม่ได้มีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นที่เปิดเผยต่อประชาคม และมีส่วนงานวิชาการจำนวนสองหน่วยงานไม่ได้ดำเนินการเพื่อเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย คือ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ และคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา (เอกสารหมายเลข ๑๔) ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาจึงไม่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป และส่วนงานวิชาการบางส่วนงานไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด (เพิ่มเติม)
๔.มหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญต่อความเห็นจากประชาคมในการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย
๔.๑ คณะกรรมการสรรหาเสียงข้างมาก ไม่ให้ความสำคัญต่อความต้องการและความเห็นจากประชาคมมาประกอบการตัดสินใจในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ทั้งที่คณะกรรมการสรรหาได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย (เพิ่มเติม) “มอบผู้แทนคณะกรรมการสรรหา ได้แก่ ประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณ พบประชาคมและศิษย์เก่าเพื่อ...รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและคุณลักษณะของผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย...” (เอกสารหมายเลข ๑๕) โดยได้มีการจัดเวทีพบประชาคมและศิษย์เก่า เมื่อวันอังคารที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ และได้สรุปความคิดเห็นจากเวทีประชาคม (เอกสารหมายเลข ๑๖) แล้วประธานสภาคณาจารย์และพนักงานได้เอาข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา เพื่อพิจารณาก่อนที่จะมีการลงมติเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย แต่คณะกรรมการสรรหาเสียงข้างมากไม่ได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจ จึงทำให้ต้องมีการลงมติถึง ๓ ครั้ง และคะแนนที่ได้รับก็ไม่เป็นเอกฉันท์ (สามารถดูมติที่ประชุมจากคณะกรรมการสรรหา)
๔.๒ สภามหาวิทยาลัยไม่ยอมรับฟังเสียงประชาคมที่ขอให้พิจารณาการลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อครั้งประชุมสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยมีคณะผู้แทนประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ ประกอบด้วย ตัวแทนสภาคณาจารย์และพนักงาน ตัวแทนนิสิต และตัวแทนศิษย์เก่า ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย (ศ.ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย เรื่องขอให้พิจารณาการลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย (เอกสารหมายเลข ๑๗ และ ๑๘) แต่สภามหาวิทยาลัยไม่รับฟังเสียงจากประชาคม กลับมีมติรับรอง ศ.ดร.จรัญ จันทลักขณา เพื่อเสนอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ
การกระทำการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ การได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามข้อบังคับ กระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย กระทำไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้อง ตลอดจนการไม่ให้ความสำคัญต่อความต้องการ และความเห็นจากประชาคมในการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำที่ทำลายหลักการอันเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จก้าวหน้าขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการไม่เคารพกติกา การไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง การจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ การใช้ข้อมูลที่บิดเบือนมากล่าวอ้าง อันแสดงชัดเจนถึงการไม่เคารพในเกียรติศักดิ์ศรี และคุณค่าของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทักษิณแห่งนี้ หากยอมให้การกระทำการเช่นนี้ดำเนินต่อไปโดยปราศจากการคัดค้าน จะส่งผลให้เกิดการยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว อันอาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดต่อมหาวิทยาลัยทักษิณได้
จากการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น จึงใคร่ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาเพื่อยับยั้งการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณดังกล่าว