xs
xsm
sm
md
lg

ประชาคม ม.ทักษิณ จี้ทบทวนเลือกนายกสภาฯ คนใหม่-ชี้ “ระบบอุปถัมภ์” ถ่วงความเจริญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตำแหน่ง “นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ” ส่อเค้ามีปัญหา สภาคณาจารย์นำทีมยื่นหนังสือประธานกรรมการสรรหาฯ พิจารณาฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาคม พิจารณาสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่ขัดต่อข้อบังคับ หลักเกณฑ์ ขณะที่เวทีเสวนาวิชาการภายในมหาวิทยาลัยทั้งบุคลากรและนิสิตสะท้อนภาพการไม่พัฒนาเท่าที่ควรเพราะถูกระบบอุปถัมภ์ฝังราก ทำให้ได้คนไม่เหมาะสมมาบริหาร และไม่อยากให้กลายเป็นบ้านพักคนชราที่ไร้สมรรถภาพขับเคลื่อนสถาบันไปสู่ความเจริญ

วันนี้ (21 ก.ค.) เวลา 09.30 น. ณ สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา สภาคณาจารย์ในนามประชาคม ร่วมกับศิษย์เก่า และนิสิต เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต ประธานกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ และ รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดี เพื่อขอให้พิจารณาการลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งสภามหาวิทยาลัยทักษิณใหม่ให้อยู่บนความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีประเด็นสำคัญ คือ

1.กระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย อาจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้อง
2.คณะกรรมการสรรหาฯ เสียงข้างมากอาจจะมิได้ให้ความสำคัญต่อความต้องการ และความเห็นจากประชาคมมาประกอบการติดสินใจการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ จึงทำให้ต้องมีการลงมติถึง 3 ครั้ง และคะแนนที่ได้รับไม่เป็นเอกฉันท์
3.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ นั้น เป็นบุคคลที่ประชาคมไม่ยอมรับ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาคม

โดยในวันนี้มีการประชุมพิจารณาลงมติรับรองผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อส่งชื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นำเสนอโปรดเกล้าฯ และหากคณะกรรมการสรรหาฯ ยังคงไม่ฟังเสียงประชาคม ก็จะเดินหน้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ สกอ.พิจารณาต่อไป และขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว

สืบเนื่องจาก ศ.ดร.เจริญ จันทลักขณา ครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ ในวันที่ 23 มิ.ย.2555 และมีการสรรหานายกสภาฯ คนใหม่ตามกฎหมาย ที่ประชุมกรรมการสรรหาเลือกคนเก่าไม่เป็นเอกฉันท์ โดยใช้วิธีการลงคะแนนลับถึง 3 ครั้ง เพราะการลงคะแนนครั้งที่ 1-2 คะแนนออกมาเท่ากันคือ 5/5 เพราะมีผู้งดออกเสียง 1 คน แต่การลงคะแนนครั้งที่ 3 ไม่มีผู้งดออกเสียง มติของกรรมการสรรหาจึงไม่ตอบสนองความต้องการของประชาคมตามที่ได้รับฟังความเห็นมา

โดยแหล่งข่าวภายใช้ชี้ว่า เหตุผลหลักของกรรมการสรรหาเสียงข้างมากที่ไม่เอาคนใหม่เพราะ “เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยอื่นอยู่แล้ว 1 แห่ง” ส่วนที่สนับสนุนคนเก่าเพราะ “เป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งมาแล้วหนึ่งวาระ มองเห็นการก้าวเดินของมหาวิทยาลัย ประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข เป็นผู้มีประสบการณ์สูง และมีคุณธรรม”

ส่วนผู้สนับสนุนคนใหม่มีเหตุผลว่า “เป็นบุคคลที่มีความรู้ ประสบการณ์ มีคุณธรรมจริยธรรมและมีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการบริหารการอุดมศึกษา เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงการอุดมศึกษาไทย อุดมศึกษาอาเซียน และอุดมศึกษาโลก เป็นผู้ที่เข้าใจบริบทของมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นอย่างดีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และเคยเป็นประธานกรรมการอำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน”

ซึ่งต่อมา นายสุรศักดิ์ เสพมงคลเลิศ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับปฎิบัติการ สังกัดฝ่ายแผนงาน สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร้องทุกข์ต่ออธิการบดี จากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสรรยานายกสภาฯ ซึ่งเห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ (ประชาคม) ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จงใจไม่ปฎิบัติหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ใช้ข้อมูลบิดเบือนมากล่าวอ้าง เป็นต้น

และก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือพิจารณาการลงมติรับรองผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งสภาฯ นั้น ได้มีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ “แลอนาคตมหาวิทยาลัยทักษิณ” เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการสรรหาที่ยังมีต้องกังขาดังกล่าว ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 300 คน โดยมีประเด็นที่สะท้อนปัญหาที่ฝังราก และเป็นห่วงอนาคตการพัฒนาของสถาบันแห่งนี้ทั้งจากกลุ่มตัวแทนนิสิต และบุคลากร อาทิ

การพัฒนามหาวิทยาลัยที่ไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะการออกนอกระบบแต่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สาเหตุหนึ่งอาจมาจาก “ระบบอุปถัมภ์” ที่เสี่ยงต่อการได้คนไม่เหมาะสมมาทำหน้าที่ และที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มีการนำเอาผู้สูงอายุมามีบทบาทในการบริหาร เสมือนบ้านพักคนชรา ส่วนมหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนรถยนต์ที่ใครจะมาทดลองขับก็ได้ แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ รู้สมรรถนะของเครื่องยนต์ และต้องรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพแค่ไหน ซึ่งถ้าเป็นผู้สูงอายก็ต้องรู้ว่ามีปัญหาเรื่องสายตาทำให้การขับเคลื่อนช้าลงตามสมรรถภาพของคนขับนั่นเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น