“สมมาตร์ มีศิลป์” อดีต ผอ.องค์การ สกสค. ลงสมัครชิงเก้าอี้เดิมอีกครั้ง และผ่านการคัดตัวรอบแรกแล้ว รอลุ้นคัดตัวอีกรอบก่อนส่งให้บอร์ด สกสค.เลือก ด้านแหล่งข่าว ศธ.เผย เจ้าตัวน่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะเคยถูกเลิกจ้าง และยังมีคดีความเดิมยังไม่ได้สะสาง ไม่เหมาะสมมานั่งเป็น ผอ.องค์การค้า อีก
นายเอนก เพิ่มเสนีย์วงศ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้า สกสค.เรียบร้อยแล้ว และได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ เรื่อง ประกาศรายชื่อบุคคลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การค้า สกสค.ไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายสมมาตร์ มีศิลป์ , นายชวลิต ลีลาศิวพร และ นายปิติ นุชอนงค์ อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาโดยเฉพาะในประเด็นคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหา ให้รายงานมาให้คณะกรรมการสรรหาฯ ภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ โดยผู้นำเสนอข้อมูลจะต้องแนบเอกสารหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวของผู้เสนอข้อมูล จำนวน 1 ชุด
“จากนี้ก็จะดำเนินการตามปฏิทินที่วางไว้ โดยช่วงนี้จะให้มีการให้ผู้สมัครเข้านำเสนอวิสัยทัศน์การบริหารองค์การค้า สกสค.เพราะเป้าหมายของการคัดเลือก คือ ต้องการคนมีความรู้ ประสบการณ์การบริหารธุรกิจเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการองค์การค้า ของ สกสค.ที่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ใกล้ล้มละลายจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความสามารถมาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยท้ายที่สุดแล้วคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือเพียง 2 ราย และเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกคนที่จะเป็น ผอ.องค์การค้า สกสค.ต่อไป” นายเอนก กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีต ผอ.องค์การค้า นั้น เคยถูกเลิกจ้างจากตำแหน่ง ผอ.องค์การค้า สกสค.ในสมัยที่ นายชุมพล ศิลปอาชา เป็น รมว.ศึกษาธิการ เนื่องจาก นายสมมาตร์ ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับการทุจริตในองค์การค้า สกสค.ซึ่งในครั้งนั้น นายชุมพล ได้มีการแจ้งความดำเนินการคดีกับ นายสมมาตร์ ในความผิดเกี่ยวกับการยักยอกต่างๆ รวมทั้งหมด 10 คดี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 10 คดีนั้น ศาลชั้นต้น ได้พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า รมว.ศึกษาธิการ ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ แจ้งความดำเนินคดีในกรณีดังกล่าว แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยวินิจฉัยว่า 6 ใน 10 คดีข้างต้น ถือว่า รมว.ศึกษาธิการ มีอำนาจร้องทุกข์ แจ้งความดำเนินคดี และให้ศาลชั้นต้นไปพิจารณาคดีตามรูปคดีที่มีการแจ้งความว่า นายสมมาตร์ ยักยอกทรัพย์ แต่น ายสมมาตร์ ได้อุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกาต่อ ทำใหั้ขณะนี้คดีก็ยังค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงยังไม่เหมาะสมที่จะให้ นายสมมาตร์ มาเข้าชิงตำแหน่ง ผอ.องค์การค้า สกสค.เพราะจะทำให้พยาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าไม่กล้าเบิกความเป็นพยานในศาล อีกทั้งการที่นายสมมาตร์ เคยถูกเลิกจ้างนั้น ก็เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ผอ.องค์การค้า ตามระเบียบขององคการค้าและระเบียบของ สกสค.แล้ว