ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยสถิติการก่อเหตุร้ายในเดือนรอมฎอน ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากระดับสถิติของทุกปีที่ผ่านมา ระบุ โอไอซีได้ประณามการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ ขณะยันคุมเข้ม 7 หัวเมืองเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้เข้มงวด หลังเกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผารถยนต์ในโชว์รูมฮอนด้าปัตตานี
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า สำหรับข้อห่วงใยจากหลายๆ ฝ่ายในเรื่องมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ทางธุรกิจ อย่างเช่นกรณีเหตุที่โชว์รูมฮอนด้าปัตตานีที่ผ่านมา ทางจังหวัดปัตตานีได้มีการดำเนินการตามแผนพิทักษ์เมืองปัตตานี ซึ่งอยากเรียนให้ทราบว่า ในการจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด ที่จะวางแผนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจในพื้นที่
ในส่วนของปัตตานี ได้มีการกำหนดโซนนิ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนใจกลางเมืองที่จะเป็นเซฟตี้โซน พื้นที่ระวังป้องกัน ก็จะมีการตั้งด่านตรวจจุดตรวจที่จะมีกำลังร่วมระหว่างตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกำลังภาคประชาชน ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่รอยต่อกับอำเภอรอบนอก ที่จะมีการระวังป้องกันพื้นที่รอบนอกด้วยการลาดตระเวน เพราะฉะนั้น ในเรื่องของมาตรการในการระวังป้องกันของทุกหน่วยในพื้นที่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ อาจจะไม่ครอบคลุมไปทั้งอำเภอ จะเน้นพื้นที่เสี่ยง
และส่วนที่ 3 พื้นที่ล่อแหลมต่อการก่อเหตุของกลุ่มก่อเหตุรุนแรง แต่สิ่งที่ท่านผู้บัญชาการทหารบกได้ฝากเน้นย้ำ คือ มาตรการในการตั้งด่านตรวจ ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด่านตรวจ โดยให้หน่วยเฉพาะกิจกองพลทหารราบที่ 15 ดำเนินการบูรณาการด่านตรวจ 66 ด่าน ใน 37 อำเภอ เพื่อที่จะได้ดำเนินการไปตามแผนงานได้ในทิศทางเดียวกัน
พ.อ.ปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอเรียนสรุปสถานการณ์ และการปฏิบัติที่สำคัญในรอบสัปดาห์ ห้วง 16-22 สิงหาคม 55 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 28 เหตุการณ์ แบ่งเป็นในพื้นที่จังหวัดยะลา 5 เหตุการณ์ จังหวัดปัตตานี 14 เหตุการณ์ จังหวัดนราธิวาส 8 เหตุการณ์ และจังหวัดสงขลา 1 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 13 ราย
โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว คือ เหตุการณ์แรก เมื่อ 16 สิงหาคม 55 เวลา 13.00 น. คนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณลานจอดรถของสำนักงานเทศบาลปะนาเระ ใกล้กับ สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี รถยนต์ได้รับความเสียหาย 6 คัน และอาคารสำนักงานได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังแก๊สไม่ทราบขนาด จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือติดตั้งภายในรถยนต์กระบะ
เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 55 เวลา 19.00 น. คนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 40 มม. ยิงใส่ฐานปฏิบัติการ ร้อย.ร.1333 ฉก.ปัตตานี 21 บ.บือแนกือบง ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 5 นาย
เหตุการณ์ที่ 3 เมื่อ 21 สิงหาคม 55 เวลา 10.05 น. คนร้ายลอบยิงชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4515 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 บริเวณ บ.กูจิงรือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขณะเดินทางร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเฉลิม เพื่อสำรวจความต้องการรถเข็นของผู้พิการภายในหมู่บ้าน ทำให้กำลังพล เสียชีวิต 1 นาย และสมาชิก อบต.เฉลิมฯ ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน และชุดปฏิบัติการอาสารักษาดินแดนอำเภอระแงะ ได้เดินทางเข้าช่วยเหลือ คนร้ายได้ลอบวางระเบิด จำนวน 3 ลูก ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง จุดระเบิดด้วยการลากสายไฟจากข้างทาง ระยะประมาณ 70 เมตร
เหตุการณ์ที่ 4 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 55 เวลา 02.00 น. คนร้ายประมาณ 10-12 คน ลอบวางเพลิงรถยนต์ภายในศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้า ของบริษัท ปัตตานี ฮอนด้าคาร์ จำกัด ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้รถยนต์ภายในศูนย์ทั้งรถใหม่ และรถเก่าได้รับความเสียหาย จำนวน 15 คัน
พ.อ.ปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงของเดือนรอมฎอนปีนี้ พบว่า ไม่ได้มีเหตุการณ์สถิติที่เพิ่มมากกว่าในปีที่ผ่านมา โดยยังคงเกิดเหตุในระดับจำนวนที่เหมือนช่วงทุกปีทีผ่านมา โดยผู้ก่อเหตุได้สร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตชุมชนเมือง และเขตชุมชนรอบนอกที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อสร้างกระแสความรุนแรงไปยังสื่อต่างๆ
ทั้งนี้ การก่อเหตุบางเหตุการณ์ มุ่งประสงค์เพื่อหลอกล่อ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักด้วยระเบิดแสงเครื่องขณะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ประกอบกับการปฏิบัติการเชิงรุก ทั้งงานด้านการเมือง และทางการทหารของฝ่ายเราในห้วงที่ผ่านมาตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ที่ปรึกษาองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ และมีการแถลงข่าวประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุให้ขบวนการเกิดการสูญเสียผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ก่อเหตุใช้ห้วงการถือศีลอดของชาวมุสลิม เร่งก่อเหตุรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ขบวนการยังคงมีอิทธิพลในพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อสร้างกระแสดึงดูดความสนใจต่อสื่อมวลชน และประชาคมโลกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายรัฐ และข่มขู่ให้ประชาชนหวาดกลัว จนไม่กล้าให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยเพิ่มมาตรการระวังป้องกันโดยบูรณาการกำลังทั้งปวง และงานด้านการข่าว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ หรือจุดที่ล่อแหลมที่คาดว่าน่าจะเป็นพื้นที่ในการก่อเหตุ ตลอดจนการพบปะพัฒนาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง