รายงานการเมือง
“คาร์บอมบ์” ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นับเป็นลูกที่ 5 แล้วที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปีนี้ โดยครั้งล่าสุดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใจกลางย่านชุมนุม และศูนย์กลางธุรกิจของอำเภอ แสดงให้เห็นความอุกอาจไม่หวั่นเกรงกำลังเจ้าหน้าที่ที่ประจำการในละแวกนั้นแม้แต่น้อย
ไม่เท่านั้นยังเป็นการก่อเหตุใน “วันแรก” การถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม หรือวันที่ 1 ของเดือน “รอมฎอน” ประจำปี 2555 ตามปฏิทินอิสลาม ฮิจเราะห์ศักราช 1433 อีกด้วย
มองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากการแสดงพลัง “โชว์เพาฯ” ประเดิมเดือนศักดิ์สิทธิ์
ว่ากันว่า “ด้านการข่าว” ทราบสัญญาณที่จะเกิดเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้มาก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันการก่อเหตุได้ โดย “สุไหงโก-ลก” ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งที่ 2 จาก 4 จุดที่ “ผู้ก่อการร้าย” ได้แจ้งเตือนว่าจะก่อเหตุมาก่อนหน้านี้ อันประกอบด้วย “สุไหงโก-ลก - กรงปินัง - ธารโต - อ.เมืองยะลา”
นับถึงตอนนี้เกิดเหตุไปแล้วที่ “สุไหงโก-ลก - ธารโต” ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอีก 2 จุดคงได้แต่ระมัดระวัง
สำหรับเหตุการณ์ที่ “โก-ลก” เกิดขึ้นหน้า บ.โปรคอมพิวเตอร์ แอนด์ โอเอ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งห้างร้านที่จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด โดยเป็นอาคาร 4 ชั้น 4 คูหา ซึ่งแรงระเบิดทำให้อาคารดังกล่าววอดวายทั้งหลัง รวมทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้เคียงต่างก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก เจ้าของต้องหนีตายไปอยู่บนดาดฟ้าชั้น 3 เลยทีเดียว
ขณะที่ระเบิดมีน้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม มีส่วนผสมของแอมโมเนียมไนเตรทกับน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็ระเบิดลูกใหญ่ เพราะใส่อยู่ในถังแก๊สหุ้งต้ม โดยที่คนร้ายจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ วางไว้ในห้องโดยสารของรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีดำ หมายเลขทะเบียน สย 6602 กรุงเทพมหานคร และเป็นป้ายทะเบียนปลอม
ย้อนไปก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ อ.สุไหงโก-ลก เพียง 4 วัน ก็มีเหตุคนร้ายโจมตีฐานปฏิบัติการทหารในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้นคนที่ออกตัวอย่างแรงก็คงไม่พ้น “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอาการหงุดหงิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ “ลูกน้อง” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผม และ ผบ.ทบ.ได้ลงไปในพื้นที่และได้เตือนแล้วว่าในวันที่ 20 ก.ค.นี้ที่เป็นวันรอมฎอน ก่อนที่จะถึงวันรอมฎอน ขอให้ทุกคนเอาใจใส่ให้และมีความระมัดระวังให้มาก เพราะต้องมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งสายข่าวรายงานกับตนว่าต้องเกิดเหตุการณ์แน่ภายใน 2 วัน”
หลังบัญชาของ “บิ๊กอ๊อด” ที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ยังไม่ทันจะวางยุทธวิธีการรบกับกลุ่มก่อความไม่สงบได้เสร็จทันก็เกิดเหตุระเบิดที่ “สุไหงโก-ลก” ขึ้นมา ยิ่งเป็นการ “ตอกลิ่ม” ให้เห็นถึงความบกพร่องของ “ยุทธวิธี” ที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และจำเป็นต้องมีการทบทวน “ยกเครื่อง” ใหม่อย่างเร่งด่วน
เพราะเป็นการย้ำให้เห็นว่า “เจ้าหน้าที่” ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ยังทำหน้าที่ด้วยความประมาท และไม่เข้มงวด ประกอบกับไว้ใจสถานการณ์มากเกินไปทำให้เกิดช่องว่างที่คนร้ายสามารถขนระเบิดเข้ามาก่อเหตุถึงชุมชนเมือง หรือย่านธุรกิจใจกลางเมืองก็เป็นได้
ทั้งที่มีการแจ้งเตือนมาก่อนล่วงหน้า
หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” จนลงไปถึงการวางระเบิดขนาดเล็กที่มีความสูญเสียอยู่ไม่น้อย ฝ่ายที่ตกเป็นเป้าก็ต้องเป็นระดับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่พลเรือน ทหาร และอาสาสมัครทหารพราน
โดยเฉพาะในปัจจุบันพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคหลังนี้มักจะใช้ “อาสาสมัครทหารพราน” เฝ้าพื้นที่ต่างๆเป็นหลัก แทนที่จะใช้กำลังทหารจริงๆ ที่เริ่มจะถอยห่างออกมากลับกรมกอง ของตัวเองในแต่ละสังกัดแล้ว ราวกลับว่าเหตุการณ์ “ไฟใต้” ใกล้สงบแล้ว
สวนทางกับความเป็นจริงที่ปรากฏไม่เว้นแต่ละวัน
การใช้ “ทหารพราน” ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ “ฝ่ายตรงข้าม” อาศัยใช้เป็นข้อได้เปรียบในการก่อเหตุ เพราะส่วนใหญ่ “ทหารพราน” เป็นเพียงอาสาสมัครพลเรือนที่ผ่านการสอบเข้าไปโดยที่ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านการทหาร ไม่ได้ผ่านการฝึกรบ ฝึกต่อสู้ หรือยุทธวิธีที่ผ่านการเคี่ยวกรำตามแบบฉบับวิชาทหารมาอย่างเข้มข้น
จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิด “ความหละหลวม” ในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นได้ และหลายครั้งที่ผ่านมา การใช้เจ้าหน้าที่จากในพื้นที่นั้นๆ ก็จะมีข้อเสียเมื่อมีการโอนอ่อนผ่อนปรน จนผู้ก่อการร้ายได้ใจที่จะลงมือก่อเหตุ เพราะความโอนอ่อนในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ไม่เพียงเท่านั้น “ระดับนโยบาย” จำเป็นต้องกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น จากที่หลายต่อหลายครั้งเกิดความหละหลวมในการตั้งด่านตรวจ ด่านสกัดก่อนที่จะเข้าไปยังชุมชนเมือง หลายต่อหลายด่านกลับ “ว่างเปล่า” ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการ
จึงเป็น “ช่องโหว่” ที่คนร้ายใช้เจาะในท้ายที่สุด
เมื่อเกิดเหตุแล้ว “ฝ่ายรัฐ” มานั่งคุยโวโอ้อวดว่า รู้มาก่อนแล้วจากการข่าว แต่ไม่สามารถป้องกันเหตุได้ หรือปล่อยให้เกิดเหตุแม้แต่การจะมาประณาม “ผู้ก่อเหตุ” หรือไล่ตระครุบจับตัวในภายหลัง ย่อมไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
หากไม่เร่ง “ขันนอต” ให้เข้มงวดกวดขันในพื้นที่มากกว่านี้
การข่าวจะเหนือเมฆแค่ไหนเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง