กระบวนการยุติธรรม / ASTV สุดสัปดาห์
บทพิสูจน์ภารกิจหลัก “ผบ.ตร”
“ดาบอาญาสิทธิ์” ในมือ “อดุลย์”
วันที่ 10 ส.ค. สำนักนายกรัฐมนตรีมีประกาศเรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ความว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ประกาศ ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2555 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
สรุปประชาชนคนไทยทุกคนได้ ผบ.ตร.คนใหม่ที่ชื่อว่า “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” เป็น ผบ.ตร.คนที่ 9 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นแม่ทัพสีกากีที่เคยผ่านงานสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีดีกรีเป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลปัจจุบันให้นั่งในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อวางระบบแก้ปัญหายาเสพติดอีกด้วย
ภารกิจหลักของผู้นำวงการสีกากี โดยการบังคับบัญชาจาก พล.ต.อ.อดุลย์ ที่เป็นผู้กุมบังเหียนตำรวจโดยตรงในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” คงหนีไม่พ้นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากร และเป็นเจ้าของเงินที่เสียสละรายได้ตัวเองเข้ากระทรวงการคลัง นำมาเป็นงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับตำรวจทั่วทั้งประเทศ ได้มีความรู้สึก “อุ่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ของตนเองได้อย่างแท้จริง
ถือเป็นสิ่งที่ “ท้าทาย” ความสามารถและเป็น “งานหิน” ประเดิมตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่เป็นอย่างมากที่จะทำให้คนไทยทุกคนรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเผชิญอย่างหนักหน่วงในเวลานี้ หลังจากที่เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือ “โจรใต้” ได้ก่อเหตุในช่วงถือศีลอดชาวไทยมุสลิม หรือวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปี พ.ศ. 2555 หรือตามปฏิทินอิสลาม ฮิจเราะห์ศักราช 1433 ตามประกาศของเว็บไซต์จุฬาราชมนตรี
โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมและสะเทือนใจคนไทยทุกคน สำหรับคลิปวีดีโอการสังหารโหด 4 ทหารไทย ร.1532 หน่วยเฉพาะกิจ ปัตตานี 25 ขณะกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์กลับจากลาดตระเวนสู่ฐานปฏิบัติการที่โรงเรียนบ้านกาวะ หมู่ที่ 3 ต.กาวะ อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยเกิดเหตุบนถนนสาย 406 มายอ-ปาลัส อย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
หากย้อนไปดูสถิติการก่อเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 เกิดเหตุ 389 ครั้ง แบ่งเป็น จ.ยะลา 87 ครั้ง จ.ปัตตานี 175 ครั้ง และ จ.นราธิวาส 127 ครั้ง รวมเหยื่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 759 ราย
นี่ยังไม่รวมสถิติล่าสุดที่เกิดเหตุเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนที่มีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น 75 ครั้ง แบ่งเป็น จ.ยะลา 17 ครั้ง โดยก่อเหตุรอบยิง 12 ครั้ง ใช้ระเบิด 4 ครั้ง และวางระเบิด 1 ครั้ง, ที่ จ.ปัตตานี 42 ครั้ง โดยก่อเหตุรอบยิง 23 ครั้ง ใช้ระเบิด 3 ครั้ง และวางเพลิง 14 ครั้ง และที่ จ.นราธิวาส 16 ครั้ง โดยก่อเหตุรอบยิง 12 ครั้ง ใช้ระเบิด 3 ครั้ง และวางเพลิง 1 ครั้ง
เมื่อพิจารณาปัจจัยการก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ จังหวัดปัตตานีถือเป็นจังหวัดที่กลุ่มโจรใต้ลงมือก่อเหตุมากที่สุด... และไม่มีแนวโน้มว่าหน่วยงานราชการด้านความมั่นคง อย่างทหาร-ตำรวจ จะคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มันทุเลาเบาบางลงได้อย่างไร??
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้เปิดเผยต่อ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ในโอกาสที่เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีในการรับตำแหน่งใหม่ถึงการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีปัญหาเรื่องการประสานงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานที่ลงพื้นที่ยังขาดการประสานงานกันที่ชัดเจน เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำเพราะต่างหน่วยก็ต่างมีผู้บังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งหลังจากนี้ไปตนในฐานะ ผบ.ตร.คนใหม่จะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหากับทุกหน่วย ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นของทหาร หรือฝ่ายปกครอง โดยตนจะยึดหลักว่าตนเป็นผู้น้อยที่จะรับฟังปัญหาทุกภาคส่วนแล้วกลับนำมาปรับปรุงในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการทำให้เกิดการประสานงานในการทำงานแก้ปัญหาในพื้นที่โดยภาพรวมได้ดีขึ้น
คงเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักสำคัญของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบันที่จะได้แสดงฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนให้สมฐานะที่คลุกคลีกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างโชกโชนได้อย่างแท้จริง
ยังไม่รวมปัญหาเหลือบไรในเครื่องแบบสีกากี หรือ ตำรวจนอกแถว ที่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงทั้งในระดับสัญญาบัตรและชั้นประทวน ไปพัวพันกับการกระทำผิดกฎหมายเสียเอง จนชาวบ้านขนานนามว่า “โจรในเครื่องแบบ” โยงใยไปถึงปัญหา ยาเสพติด บ่อนการพนัน และอบายมุข ต่าง ๆ ที่มีอยู่เกลื่อนเมือง อันเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมทุกวันนี้ซึ่งถือเป็นตัวบ่อนทำลาย “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” อย่างแท้จริง ถือเป็นงานที่ “ท้าทาย”ที่พิสูจน์ความสามารถรอท่านมาปัดกวาดทำความสะอาดในฐานะ “ผู้นำ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” คนใหม่แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เรื่องโดย / สอนของพ่อ สถิตในดวงใจ
ล้อมกรอบ
ประวัติส่วนตัว
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว หรือ “บิ๊กอู๋”
เกิดวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2497 โดยเป็นบุตรชายคนเดียว ในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายอุดม และนางอัมรา แสงสิงแก้ว เป็นชาวอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยกำเนิด
ประวัติการศึกษา
- โรงเรียนอนุบาลนครพนม
- ประถมศึกษา โรงเรียนสุนทรวิจิตร
- มัธยมศึกษา โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย
- มัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา
- โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่นที่ 29)
- ปริญญาโทด้านพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ จบวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 33
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 42 (วปอ.42)
- หลักสูตรมินิครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หลักสูตรความเป็นเลิศของนักบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สถาบันวิทยาลัยตลาดทุนรุ่น 5
ประวัติครอบครัว
สมรสกับนางอรัญญา อรัณยกานนท์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2528
ตำแหน่งปัจจุบัน
1 ตุลาคม 2555 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1 ตุลาคม 2554 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
การทำงาน และเส้นทางการเติบโตชีวิตราชการตำรวจ
- รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน
- ผบ.มว.หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จ.นครพนม
- สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมือง มุกดาหาร
- สารวัตรกิ่ง อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร
- สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
- ผบ.ร้อย 4 หห.1 รร.นรต.
- หน.ผ.3 ยุทธการ กองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนที่13 จ.กาญจนบุรี
16 พฤศจิกายน 2531 รองผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1
16 ธันวาคม 2532 รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน
5 มิถุนายน 2534 อาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ กองกำกับการ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
1 ตุลาคม 2534 อาจารย์วิชาทหารและการฝึก ภาควิชาทหารและการฝึก กองกำกับการ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
2 ตุลาคม 2535 รองผู้บังคับการ กองบังคับการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
16 เมษายน 2540 รองผู้บังคับการกองแผนงาน 2
2 ตุลาคม 2540 ผู้บังคับการกองแผนงาน 1
2 ตุลาคม 2541 ผู้บังคับการตำรวจจราจร
2 ตุลาคม 2543 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
1 ตุลาคม 2545 รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
1 ตุลาคม 2547 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
30 มิถุนายน 2548 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
1 ตุลาคม 2549 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปป.3) รับผิดชอบกำกับดูแลการบริหารราชการ สั่งการและปฏิบัติราชการแทนในการป้องกันและปราบปรามอาชกรรมของตำรวจภูธรภาค 9)(และควบตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9)
25 พฤศจิกายน 2552 ที่ปรึกษา (สบ 10) (ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ)
1 ตุลาคม 2553 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1 ตุลาคม 2554 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
1 ตุลาคม 2555 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ตำแหน่งอื่นๆ
2 ธันวาคม 2545 คณะที่ปรึกษาฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
21 กุมภาพันธ์ 2546 นายตำรวจราชสำนักเวร
22 กันยายน 2549 กรรมการข้าราชการตำรวจ
11 ตุลาคม 2549 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
12 ธันวาคม 2549 กรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน
19 พฤศจิกายน 2551 กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
17 มีนาคม 2552 กรรมการองค์การตลาด
21 กุมภาพันธ์ 2552 นายตำรวจราชสำนักเวร
19 มีนาคม 2553 นายตำรวจราชสำนักพิเศษ
1 ตุลาคม 2553 กรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
11 ตุลาคม 2554 กรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประวัติยศนายพลตำรวจ
2 ตุลาคม 2540 พลตำรวจตรี
1 ตุลาคม 2547 พลตำรวจโท
2 พฤศจิกายน 2552 พลตำรวจเอก
เครื่องราชฯ
ปี 2526 รางวัลตำรวจดีเด่น
ปี 2527 คนไทยตัวอย่าง ของมูลนิธิธารน้ำใจ
เพื่อนร่วมรุ่นรักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.29)
1. พล.ต.ท.วัชพล ประสารราชกิจ
2. พล.ต.ท.พิจาร จิตติรัตน์
3. พล.ต.ต.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล
4. พล.ต.ต.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์
เพื่อนร่วมรุ่นในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.42)
1. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
2. พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ