มติที่ประชุม ก.ต.ช.10 ต่อ 0 ดัน “อดุลย์” ผ่านฉลุยผงาดคุมสีกากี เลขาฯ ก.ต.ช.ยัน ว่าที่ ผบ.ตร.คนที่ 9 ครบเครื่องเรื่องบู๊-บุ๋น 2 สัปดาห์เตรียมยื่นโปรดเกล้าฯ
วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยมี ก.ต.ช.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายพระนาย สุวรรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกิตติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเรวัตร ฉ่ำเฉลิม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยใช้เวลาประมาณ 01.30 ชั่วโมง
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขานุการ ก.ต.ช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ได้พิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยนายกฯได้ชี้แจงความจำเป็นการเรียกประชุมเร่งด่วน เนื่องจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.จะครบกำหนดเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งกฎระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับชั้นผู้บังคับการ หรือนายพลขึ้นไป จะต้องแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ดังนั้นมีความจำเป็นต้องแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ โดยนายกฯได้เรียนให้ที่ประชุมทราบก่อนการพิจารณาในฐานะที่นายกฯ เป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกข้าราชการยศ พล.ต.อ.ขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 10 นาย ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งกรอบการพิจารณาที่นายกฯเน้นให้ความสำคัญคือผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องสามารถพัฒนาและนำองค์กรไปในทิศทางตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสนับสนุนเรื่องงานอาชญากรรมต่างๆ โดยเฉพาะการที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นจำเป็นต้องมีผู้บังคับบัญชาที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะดำเนินการสิ่งต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า จากการพิจารณานายกฯ ในฐานะผู้มีอำนาจในการเสนอชื่อตามกฎหมาย ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมและมีประสบการณ์ผ่านงานสำคัญในฐานะผู้นำหน่วย ตั้งแต่เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร และปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และขณะนี้ได้รับมอบหมายเรื่องสำคัญในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความรู้ความสามารถเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ดังนั้นที่ประชุมจึงมีการลงมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ 11 คน รวมนายกฯ ซึ่ง 10 คนลงมติสนับสนุนเห็นชอบให้ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็น ผบ.ตร.คนต่อไป โดยนายกฯ งดออกเสียง จากนี้จะเป็นขั้นตอนทางธุรการซึ่งนายกฯ จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง ผ่านสำนักราชเลขาฯ คาดว่าจะสามารถนำทูลเกล้าฯ ได้ภายใน 2 สัปดาห์
ประวัติส่วนตัว ว่าที่ ผบ.ตร.คนที่ 9
พลตำรวจเอก อดุลย์ นามสกุล แสงสิงแก้ว หรือบิ๊กอู๋
เกิดวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยเป็นบุตรชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายอุดม และนางอัมรา แสงสิงแก้ว เป็นชาวอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยกำเนิด
ประวัติการศึกษา
- โรงเรียนอนุบาลนครพนม
- ประถมศึกษา โรงเรียนสุนทรวิจิตร
- มัธยมศึกษา โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย
- มัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา
- โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่นที่ 29)
- ปริญญาโทด้านพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ จบวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 33
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 42 (วปอ.42)
- หลักสูตรมินิครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หลักสูตรความเป็นเลิศของนักบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สถาบันวิทยาลัยตลาดทุนรุ่น 5
ประวัติครอบครัว
สมรสกับนางอรัญญา อรัณยกานนท์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2528
ตำแหน่งปัจจุบัน
1 ตุลาคม 2554 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
การทำงาน และเส้นทางการเติบโตชีวิตราชการตำรวจ
- รอง สารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน
- ผบ.มว.หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จ.นครพนม
- สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมือง มุกดาหาร
- สารวัตรกิ่ง อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร
- สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
- ผบ.ร้อย 4 หห.1 รร.นรต.
- หน.ผ.3 ยุทธการ กองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนที่13 จ.กาญจนบุรี
16 พฤศจิกายน 2531 รองผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1
16 ธันวาคม 2532 รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน
5 มิถุนายน 2534 อาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ กองกำกับการ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
1 ตุลาคม 2534 อาจารย์วิชาทหารและการฝึก ภาควิชาทหารและการฝึก กองกำกับการ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
2 ตุลาคม 2535 รองผู้บังคับการ กองบังคับการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
16 เมษายน 2540 รองผู้บังคับการกองแผนงาน 2
2 ตุลาคม 2540 ผู้บังคับการกองแผนงาน 1
2 ตุลาคม 2541 ผู้บังคับการตำรวจจราจร
2 ตุลาคม 2543 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
1 ตุลาคม 2545 รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
1 ตุลาคม 2547 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
30 มิถุนายน 2548 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
1 ตุลาคม 2549 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปป.3) รับผิดชอบกำกับดูแลการบริหารราชการ สั่งการและปฏิบัติราชการแทนในการป้องกันและปราบปรามอาชกรรมของตำรวจภูธรภาค 9)(และควบตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9)
25 พฤศจิกายน 2552 ที่ปรึกษา (สบ 10) (ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ)
1 ตุลาคม 2553 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1 ตุลาคม 2554 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ตำแหน่งอื่นๆ
2 ธันวาคม 2545 คณะที่ปรึกษาฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
21 กุมภาพันธ์ 2546 นายตำรวจราชสำนักเวร
22 กันยายน 2549 กรรมการข้าราชการตำรวจ
11 ตุลาคม 2549 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
12 ธันวาคม 2549 กรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน
19 พฤศจิกายน 2551 กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
17 มีนาคม 2552 กรรมการองค์การตลาด
21 กุมภาพันธ์ 2552 นายตำรวจราชสำนักเวร
19 มีนาคม 2553 นายตำรวจราชสำนักพิเศษ
1 ตุลาคม 2553 กรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
11 ตุลาคม 2554 กรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประวัติยศนายพลตำรวจ
2 ตุลาคม 2540 พลตำรวจตรี
1 ตุลาคม 2547 พลตำรวจโท
2 พฤศจิกายน 2552 พลตำรวจเอก
เครื่องราช
ปี 2526 รางวัลตำรวจดีเด่น
ปี 2527 คนไทยตัวอย่าง ของมูลนิธิธารน้ำใจ เพื่อนร่วมรุ่น :
เพื่อนร่วมรุ่น นรต.29
1. พล.ต.ท.วัชพล ประสารราชกิจ
2. พล.ต.ท.พิจาร จิตติรัตน์
3. พล.ต.ต.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล
4. พล.ต.ต.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์
เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.42
1. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
2. พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ