“ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะถก ก.ต.ช.มีวาระสำคัญ แต่งตั้ง ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ลือสะพัด พล.ต.อ.อดุลย์ นรต.29 ตัวเต็งขึ้นแท่น ผบ.ตร.คนต่อไป เนื่องจากมีผลงานที่โดดเด่น และได้รับการสนับสนุนจากคนในรัฐบาล และกองทัพ และจะมีการประชุมเพื่อแต่งตั้งในวันจันทร์นี้
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้นัดประชุม ก.ต.ช.ขึ้นที่ห้องสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 14.30 น.วันที่ 16 กรกฎาคม โดยมีวาระสำคัญ คือการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แทน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.คนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้
ด้าน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ในฐานะ ก.ต.ช.กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้เสนอชื่อ แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่า ท่านเสนอใคร นายกรัฐมนตรีไม่ได้บอกว่าเสนอใคร มีแต่แจ้งว่าให้เตรียมประชุม ก.ต.ช.เท่านั้นเอง เรียนตรงๆ ตนไม่รู้จริงๆ ว่าใครจะเป็นคนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ผบ.ตร.คนใหม่ ควรต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ผบ.ตร.กล่าวว่า ส่วนตัวมองเรื่องของประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ประวัติการรับราชการ ระบบคุณธรรม ระบบอาวุโส
“ผมดูทุกอย่างประกอบหมด ถ้าเป็นผมจะดูอย่างนี้ ตอนผมไม่มีอำนาจในการเสนอ ในฐานะข้าราชการก็มองรูปนี้ ตอนนี้ไม่ทราบ ให้ไปทำนายไม่ได้ ท่านไม่ได้บอกผมว่าจะเสนอใคร ผมไม่ได้ถามทาน ผมเรียนตรงๆ ไม่ทราบจริงๆ วันนั้นจะแต่งตั้งใครต้องไปคุยในที่ประชุมวันนั้น ดูในที่ประชุมวันนั้น ว่า จะมีความเห็นต่อรายชื่อที่เสนออย่างไร ต้องว่าไปตามระเบียบกฎหมาย” ผบ.ตร.กล่าว
เมื่อถามว่า การเลือก ผบ.ตร.ใหม่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม เร็วเกินไปหรือไม่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวว่า ตนก็เพิ่งทราบ
ถามว่า มีข่าวว่า เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ไปรับตำแหน่งการเมือง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ กล่าวว่า “ไม่หรอก ผมจะอยู่ถึงครับ เรื่องอะไรจะไปออกก่อน ผมจะเกษียณในตำแหน่ง ผบ.ตร.ผมรับราชการมาจนถึงขนาดนี้แล้ว” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ระบุว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องมาจากข้าราชการตำรวจ ยศ พล.ต.อ.โดยการแต่งตั้ง ผบ.ตร.นั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานก.ต.ช.ต้องคัดเลือกนายตำรวจยศ พล.ต.อ.และเสนอให้ที่ประชุม ก.ต.ช.เห็นชอบ ทั้งนี้ สำหรับแคนดิเดตผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.คนที่ 9 มี 2 คน คือ 1. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร.ด้านป้องกันปราบปราม อาวุโสอันดับ 1 นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) 28 เกษียณอายุราชการในปี 2556 และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคง และเลขาธิการ ป.ป.ส.อาวุโสอันดับ 3 นรต.29 เกษียณอายุราชการในปี 2557 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข่าวลือสะพัดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า แม้ พล.ต.อ.ปานศิริ จะมีอาวุโสสูงกว่า และมีความใกล้ชิด กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรับฐมนตรี ซึ่งมีบารมีในรัฐบาลนี้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.เนื่องจากมีผลงานที่โดดเด่น และได้รับการสนับสนุนจากคนในรัฐบาล และกองทัพ ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหาร พล.ต.อ.อดุลย์ ก็ได้รับความไว้วางใจให้รับงานสำคัญหลายอย่าง ทั้งการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส.ดูแลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด และเมื่อสถานการณ์การ ทางการเมืองเริ่มส่อเค้าจะมีการชุมนุม ก็มีการมอบหมายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ มาคุมงานด้านความมั่นคง จัดระบบงานตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมโดยเฉพาะ โดยมีกระแสข่าวว่าทั้งคู่ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบ พ.ต.ท.ทักษิณ มาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีกระแสข่าวถึงการวางตัว ผบ.ตร.คนใหม่ ได้สอบถามไปยัง พล.ต.อ.ปานศิริ และ พล.ต.อ.อดุลย์ ต่างก็ให้คำตอบตรงกันว่า ไม่ทราบ และไม่ขอออกความเห็น
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวถึงการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไปว่า ที่กฎหมายจะระบุเพียงว่า ผบ.ตร.เลือกจากข้าราชการตำรวจ ยศ พล.ต.อ.แต่ประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา การแต่งตั้ง ผบ.ตร.จะเสนอชื่อ รองผบ.ตร.ที่อาวุโสอันดับ 1 เท่านั้น ดังนั้น การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปคงระบบประเพณีที่ดีงามขององค์กรตำรวจ ก็ควรพิจารณาหลักอาวุโสด้วย จะอ้างเพียงความสามารถอย่างเดียวไม่ได้