ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการค้าทราย และรับเหมาก่อสร้างในภูเก็ตเดือดร้อนหนัก หลัง DSIจับกุมบ่อขุดทรายที่พังงา ทำทรายขาดตลาด และราคาพุ่งสูงเท่าตัว ร้องผู้ว่าฯ หาแนวทางช่วยเหลือก่อนกระทบการก่อสร้างในวงกว้าง
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (20 ส.ค.) ผู้ประกอบการค้าทราย บริษัท รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่ใช้ทรายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นำโดย นายไพโรจน์ ออพัฒนกุล จาก หสม.ไตรภาดา และตัวแทนผู้ประกอบการค้าทรายในจังหวัดภูเก็ต ยื่นหนังสือถึง นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ผ่านทาง นายสำราญ สินทอง กรรมการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการขาดแคลนทรายสำหรับใช้ในการก่อสร้าง เนื่องจากขณะนี้ ผู้ประกอบการรับเหมาในภูเก็ตได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนทรายเป็นอย่างมาก
นายไพโรจน์ ออพัฒนกุล จาก หสม.ไตรภาดา และตัวแทนผู้ประกอบการค้าทรายในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เข้าจับกุมผู้ประกอบการขุดทรายที่อำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา และสั่งห้ามไม่ให้มีการดูดทรายในพื้นที่ที่ถูกอายัดแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการขุดทรายในพังงาไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้ประกอบการค้าทรายและรับเหมาก่อสร้างในภูเก็ตได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากทรายที่ใช้ในการก่อสร้างในภูเก็ตต้องนำเข้ามาจากจังหวัดพังงาทั้งหมด ผู้ประกอบการค้าทรายในภูเก็ตต้องสั่งซื้อทรายมาจากจังหวัดอื่น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง
เนื่องจากทรายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการก่อสร้าง ซึ่งจังหวัดพังงา และภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ความจำเป็นในการใช้ทรายเพื่อการก่อสร้างจึงเกิดขึ้นตลอด ทั้งในเรื่องของการก่อสร้างอาคาร บ้านพัก โรงแรม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่เมื่อทรายขาดตลาดทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักตามไปด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนการขาดแคลนทรายในพื้นที่ภูเก็ต ทางผู้ประกอบการจึงอยากให้ทางจังหวัดภูเก็ตประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จัดหาแหล่งทรายในบริเวณใกล้เคียงทดแทนแหล่งทรายเดิม อนุญาตให้มีการดูดทรายชั่วคราวในพื้นที่ดูดทรายเดิม โดยชำระค่าภาคหลวงให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนกว่ากระบวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วเสร็จ รวมทั้งให้ทางราชการออกระเบียบ และกำหนดพื้นที่ที่สามารถทำบ่อทรายให้ชัดเจนในอนาคต โดยกำหนดค่าภาคหลวงที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอสัมปทานให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่ทรายขาดตลาด ทำให้ราคาทรายขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ซื้อขายกันที่คิวบิกเมตรละ 500 บาท ขณะนี้ปรับเป็นคิวบิกเมตรละ 1,000 บาท และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย