xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกหนักหนึ่งวันในปักกิ่ง วิบัติอย่างไม่น่าเชื่อ บทเรียนใหญ่การพัฒนาระบบระบายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

นครปักกิ่งกลายเป็นท้องสมุทร รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ระบุผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมสูง 37 คน รถยนต์เสียหาย 15,000 คัน
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ในชั่วเพียงหนึ่งวันหนึ่งคืนของเมื่อวันเสาร์ (21 ก.ค.) ที่ผ่านมา ฝนตกหนักกระหน่ำกรุงปักกิ่ง จนเกิดน้ำท่วมสูง สร้างความเสียหายอย่างไม่น่าเชื่อ การสัญจรบนท้องถนนกลายเป็นอัมพาต บ้านเรือน รถยนต์เสียหายย่อยยับ ประชาชนยังต้องมาสังเวยชีวิต 37 คน อย่างน่าเศร้าสลด

อุบัติการณ์ฝนตกหนักในกรุงปักกิ่งครั้งใหญ่นี้ ได้เผยถึงความสามารถที่แท้จริงของระบบการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของเมืองหลวงพญามังกร ได้แก่ระบบป้องกันน้ำท่วมที่ไร้น้ำยา

จากพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง มาตรฐานแบบระบบระบายน้ำในกรุงปักกิ่งสามารถรับมือกับปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 1 ถึง 3 ปี เท่านั้น และสามารถระบายน้ำเพียงแค่ 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำจากฝนตกในกรุงปักกิ่งครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในการขยายระบบระบาย เนื่องจากขนาดพื้นที่ของเมืองและสิ่งก่อสร้างประดามีที่ผุดมากมายแออัดจนแทบจะไม่อาจหาพื้นที่สำหรับการขยายระบบระบายน้ำ

ปัญหาเก่า: มาตรฐานระบายน้ำปักกิ่งต่ำ ห่างชั้นชาติชั้นนำกว่า 10 เท่าตัว
เมื่อไม่กี่ปีผ่านมา นครปักกิ่งภาคภูมิใจนักหนาในการพัฒนาความทันสมัยของสิ่งก่อสร้างที่ทำลายสถิติโลกทั้งในด้านจำนวน มูลค่าการก่อสร้าง ขนาดใหญ่โตมโหฬาร แบบที่ล้ำสมัย ทว่า อุบัติการณ์น้ำท่วมจากฝนหนักครั้งนี้ ก็ได้เผยถึงสภาพ “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” ของการพัฒนาเมือง

โครงข่ายระบบระบายน้ำภายในเมืองปักกิ่ง ประกอบด้วยสองระบบใหญ่ ได้แก่ ระบายน้ำจากฝนตก ระบบระบายบำบัดน้ำเสีย สำหรับระบบระบายจากฝนตกนั้นอาศัยโครงข่ายท่อระบายน้ำตามเขตเล็กๆ ระบบท่อระบายน้ำตามถนนหนทาง และระบบคลองน้ำไหล ทำงานร่วมกัน

เมื่อวันที่ 23 ม.ย.ปีที่แล้ว(2554) ปักกิ่งก็ประสบพายุฝนตกหนัก ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตอย่างสาหัส ในตอนนั้น กลุ่มบริษัทที่ก่อสร้างระบบระบายของเมือง ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงมาตรฐานระบบระบายน้ำที่อ่อนด้อยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างรุนแรง

วิศวกรประจำหน่วยบริหารจัดการน้ำประจำนครปักกิ่ง (Beijing Water Authority) นาย หม่า เฟิงปิน ได้เขียนรายงานเมื่อปี 2552 แจกแจงปัญหาในระบบระบายน้ำของนครปักกิ่ง ได้แก่ มาตรฐานไม่เพียงพอ ระบบเก่าคร่ำ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบายน้ำล้าหลัง ระบบระบายน้ำไม่สมบูรณ์

นอกไปจากนี้ หัวหน้าใหญ่ของสำนักงานป้องกันอุทกภัยแห่งปักกิ่ง นาย หวัง อี้ ก็ได้เคยชี้ว่า มาตรฐานระบบระบายน้ำของนครปักกิ่งโดยทั่วไปสามารถรับมือปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 1 ถึง 3 ปี เท่านั้น เป็นระบบที่เหมาะกับปริมาณน้ำจากฝนตก 36 ถึง 45 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แม้แต่ระบบระบายน้ำในย่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน และสวนโอลิมปิก สามารถรับมือปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 5 ปี

เปรียบเทียบระบบฯของมหานครของโลก ได้แก่ นิวยอร์ก สามารถรับปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 10 ถึง 15 ปี โตเกียว 5 ถึง 10 ปี และปารีส 5 ปี

จริงๆแล้ว ก่อนหน้าที่ฝนตกหนักในวันที่ 21-22 ก.ค. สะพานลอยฟ้า 90 แห่งในนครปักกิ่ง ได้มีการติดตั้งระบบระบายน้ำ แต่ฝนตกเทลงมาในเขตต่างๆของเมืองเฉลี่ย 225 มิลลิเมตร ด้วยความล้าหลังหลายจุดภายในระบบจัดการและระบายน้ำ จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ปักกิ่งประสบภัยวิบัติจากน้ำท่วมขังถึงปานนี้

อาจารย์สถาบันวิศวกรรมการก่อสร้างแห่งมหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญระบบระบายน้ำ นาย โจว อี้เหวิน เผยว่าในช่วงต้นยุคก่อตั้งจีนใหม่ (สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2492) เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ปักกิ่งได้นำทฤษฎีเทคโนโลยีและการออกแบบระบบระบายน้ำหลายอย่างจากโซเวียตมาใช้ “ด้วยความคิดหาวิธีการที่ประหยัดเงินมากที่สุด จึงสร้างระบบที่ตอบสนองความต้องการในยุคนั้นก็พอแล้ว” การก่อสร้างท่อระบายน้ำยุคนั้นเป็นท่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานสำหรับการรับน้ำปริมาณมากสุดในรอบ 0.5 ปี ถึง 0.3 ปี “ปีหนึ่ง น้ำท่วม 2-3 ครั้ง เป็นเรื่องปกติ”

นอกจากมาตรฐานการออกแบบไม่สูงแล้ว การระบายน้ำในปักกิ่งยังมีปัญหาระบบที่เก่าคร่ำ ปัจจุบัน โครงข่ายท่อระบายน้ำยังมีคลองระบายน้ำทำจากอิฐที่สร้างสมัยก่อตั้งจีนใหม่ อีกทั้งอุปกรณ์เครื่องมือในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เก่าชำรุดทรุดโทรม

ปัญหาใหม่: ขาดบูรณาการ แผนระยะยาว
หลังเกิดฝนตกหนักในปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว นาย โจว อี้เหวินได้กล่าวว่า แบบระบบระบายน้ำของปักกิ่งล้าสมัย ควรเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว “หากใช้คอมพิวเตอร์จำลองแบบสถานการณ์ในการคำนวณ เช่น เมื่อเกิดพายุฝน จะมีน้ำสะสมในแต่ละพื้นที่มากน้อยเท่าไหร่ จะต้องระบายน้ำออกเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์คำนวณได้ แต่ปัจจุบันพวกเรายังคงอาศัยประสบการณ์ ที่ไหนมีน้ำท่วม ก็รีบเข้าไปแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ตัวเอง”

นาย โจว อี้เหวินยังเผยอีกว่า ปักกิ่งยังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการระบายน้ำ ขณะนี้จีนสร้างบุคลากรด้านนี้น้อยมาก แม้แต่ตำรับตำราที่ทันสมัยก็ยังไม่มีเลย ดังนั้น จีนจึงยังขาดการบูรณาการในระบบระบายน้ำในเมือง “ไร้แผนการระยะยาว”

นอกจากนี้การพัฒนาเมืองกลายเป็นดงตึกสูงแออัด พื้นที่ถูกปูพรมด้วยสิ่งก่อสร้างจากวัสดุแข็ง เมื่อเกิดฝนตกใหญ่ในแต่ละครั้ง ทำให้น้ำไหลซึมลงสู่ระบบท่อระบายน้ำได้ยาก เพิ่มแรงกดดันแก่การระบายน้ำ
“มันเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆเข้ามายึดครองพื้นที่ว่างใต้ดิน”

อย่างไรก็ตาม ความจริง ปักกิ่งก็ได้พยายามปรับปรุงระบบระบายน้ำ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้ได้ประกาศ “แผนการใช้และอนุรักษ์น้ำ” ระบุแผนจัดสร้างบ่อน้ำใต้ดิน 89 แห่ง ภายใน 2558 หรือใน 3 ปีข้างหน้านี้

ล้อมกรอบ
ผู้ช่วยสำนักงานป้องกันน้ำท่วมปรำกรุงปักกิ่ง นาย พาน อันจวินได้สรุปความเสียหายจากอุทกภัยฝนตกหนักครั้งนี้ ได้แก่ พื้นที่ประสบภัย 16,000 ตร.กม. ประชาชนที่ประสบภัย 1.9 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค.) มีการย้ายคนออกที่แหล่งที่อยู่อาศัย 65,933 คน ถนนสะพานเสียหายหลายแห่ง โดยม้ำท่วมขังในจุดใหญ่ๆ 63 แห่ง พื้นถนนพังทลาย 31 แห่ง บ้านเรือนของประชาชนพังหลายหลัง

นอกจากนี้ พาน อันจวินได้ชี้ถึง “สิ่งที่พบได้ยากในประวัติศาสตร์” 4 ประการในเหตุการณ์ฝนตกหนักครั้งนี้ ได้แก่ ปริมาณฝนตกทั่วเมืองโดยเฉลี่ย 170 มิลลิเมตร ปริมาณฝนตกในเขตเมืองโดยเฉลี่ย 225 มิลลิเมตร นับเป็นฝนตกครั้งใหญ่สุดของนครปักกิ่งนับจากช่วยสถาปนาจีนใหม่ (ปี 2492) พื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร คิดเป็นสัดส่วน มากกว่า 86 เปอร์เซนต์ของพื้นที่เมืองทั้งหมด; ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเกือบ 16 ชั่วโมง ; จุดที่ปริมาณฝนมากสุดคือที่เขตฝางซัน เท่ากับ 460 มิลลิเมตร เกือบ 500 ปีถึงจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง; ปริมาณน้ำไหลมากสุดที่จีว์หม่าเหอ เท่ากับ 2,500 คิวบิกเมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำหหลมากที่สุดที่เป่ยอวิ้นเหอ เท่ากับ 1,700 คิวบิกเมตรต่อวินาที.


ชุดภาพที่ชาวเน็ตได้โพสต์ในสื่อสังคมออน์ไลน์จีนคล้ายทวิตเตอร์ ที่เรียกว่า ‘เวยปั๋ว’ แสดงสภาพน้ำท่วมตามเขตต่างๆในนครปักกิ่งหลังเกิดฝนตกหนักในวันเสาร์ที่ 21 ก.ค. 2555



บริเวณจัสตุรัสเทียนอันเหมิน น้ำท่วมขังไม่มากนัก
ถนนทางหลวงกลายเป็นแม่น้ำ

อุทยานเขาเซี่ยงซาน น้ำไหลเชี่ยวราวน้ำป่า
กำลังโหลดความคิดเห็น