xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะ 484 ล้าน ให้ สบอช.ทำ 3 โครงการป้องกันน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติ 484 ล้าน ให้หน่วยงาน สบอช.ของสำนักเลขาธิการนายกฯ จ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำ ออกแบบระบบการเผชิญเหตุ และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย เผย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำยังปกติ แต่วิตกปรากฎการณ์เอลนินโญ่ปลายปีทำฝนลดลง

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการพิจารณาการใช้งบประมาณการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย หรืองบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเยียวยาและฟื้นฟูค่าเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ 1.2 แสนล้าน ตามที่สำนักงบประมาณได้รายงานต่อที่ประชุม ว่า ตามที่สำนักงบประมาณ ร่วมกับสำนักงานคณะพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกับพิจารณารายการที่สำคัญและมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเห็นควรให้ใช้งบดังกล่าว

ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ้อมความช่วยเหลือในการเผชิญเหตุ จำนวน 73 ล้านบาท แบ่งเป็น การพัฒนาระบบบัญชาการ 53 ล้านบาทเศษ และการศึกษาอบรมประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 19 ล้านบาทเศษ กรมชลประทาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคันกั้นน้ำชั่วคราวที่ปากคลองบางบัวทอง และทำนบชั่วคราวที่ปากคลองพระอุดม จ.นนทบุรี 55 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้แก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในส่วนสำนักงานนโยบายและการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำ ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการออกแบบระบบการเผชิญเหตุ และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย รวมเป็นเงิน 484 ล้านบาท

ในส่วนของสถานการณ์น้ำรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชลิตรัตน์ เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย น้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 10 ถือว่าอยู่ในสภาวะปกติ โดยไม่มีอ่างเก็บน้ำใดมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 81 เลย ขณะที่มีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำร้อยละ 50-80 หรือเกณฑ์น้ำดีจำนวน 8 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำร้อยละ 31-50 หรือเกณฑ์น้ำพอใช้จำนวน 15 แห่ง ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำสำคัญๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่า มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ปริมาณฝนสะสมของประเทศจะลดต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ย แสดงว่าสภาพฝนและน้ำในเขื่อนต่างๆ ยังอยู่ในสภาวะปกติ

ส่วนการกำหนดเขตพื้นที่จัดการบำบัดน้ำเสีย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีสารสำคัญว่า องค์การจัดการน้ำเสีย ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้กำหนดพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ 1.พื้นที่ที่กำหนดจัดการบำบัดน้ำเสียเต็มรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ ต.บางเสร่ จ.ชลบุรี พื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา และพื้นที่เทศบาลนครสงขลา 2.พื้นที่พัฒนาเพื่อกำหนดจัดการบำบัดน้ำเสียเต็มรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่เทศบาลเองกระบี่ พื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ พื้นที่ในแนวท่อระบายน้ำเสียและที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เทศบาล ต.ป่าแดด จ.เชียงใหม่ พื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์ พื้นที่เทศบาลนครลำปาง พื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ พื้นที่เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ พื้นที่เทศบาลเมืองหนองบัวลำภู 3.พื้นที่ตามเขตควบคุมมลพิษตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศ ได้แก่ พื้นที่ จ.ภูเก็ต พื้นที่อ.เมือง และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พื้นที่หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี และพื้นที่ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งนี้นายกฯได้สั่งการให้นำ อ.มาบตาพุด เข้าไปในพื้นที่ตามข้อที่ 1 และ 2 ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น