xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ทัวร์มาบตาพุด สั่งทำแผนนำร่องอุตสาหกรรมสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ครม.สัญจรนอกสถานที่ ภาคตะวันออกวันแรก นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สั่ง อก.-ทส.-จังหวัดระยอง ทำแผนสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียวต้นแบบ แนะซ้อมแผนแผนเตือนภัยฉุกเฉิน เน้นอพยพ ปชช.-ขนเครื่องจักรหนีภัยน้ำท่วม สมาคมสิ่งแวดล้อม ตอ.ยื่นหนังสือร้องทบทวนขยายนิคมเพิ่ม ส่วนคนบ้านฉางร้องซื้อบ้านแต่ป่าไม้แจ้งทับซ้อนที่ป่าสงวนฯ

บรรยากาศการลงพื้นที่เพื่อจัดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย.2555 ในวันแรก (17 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มายังศาลากลางจังหวัดระยอง เพื่อเดินทางโดยรถยนต์ไปพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยมี ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม, นายเสนีย์ จิตต์เกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และ นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมผู้บริหารนิคมฯ ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายเสนีย์ กล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานกรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และแผนปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้ทางจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแผนระยะยาว เช่น การสำรวจประเมินความเสี่ยงของโรงงาน การจัดการอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน การแจกจ่ายเอกสารให้ความรู้แก่ประชาชน และการซักซ้อมแผนการเตือนภัยฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหตุเพลิงไหม้บริษัท บีเอสทีฯ นั้น ทางจังหวัดได้มีการตั้งคณะกรรมการรวบรวม และตรวจสอบหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐาน

อีกทั้งได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ อาทิ การจัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับทุกชุมชน 33 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด การมอบหมายให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง เพื่อสำรวจการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งทางจังหวัดได้ประสานความร่วมมือกับทางนิคมอุตสาหกรรม ทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยทั้ง 10 ประเด็นในเรื่องมาตรการควบคุมโรงงานนิคมอุตสาหกรรม และการดูแลชุมชนในนิคมต่างๆ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมได้มอบเงินสนับสนุนให้กับชุมชนรอบนิคมจำนวน 16.6 ล้านบาท จากเดิมเคยให้ 10 ล้านบาท เพื่อนำไปบริหารจัดการกันเอง ส่วนการตรวจสอบโรงงานต่างๆ เพื่อจะอนุมัติการต่อใบอนุญาต ซึ่งพบว่าเข้าข่ายความเสี่ยงไม่ได้มาตรฐานถึง 50 โรงงาน และใน 50 โรงงานมีความเสี่ยงสูงถึง 19 โรงงาน จึงสั่งให้จัดทำระบบให้เรียบร้อย

ด้าน นายวีรพงษ์ กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีมาตรการจัดการด้านต่างๆ การสื่อสารประชาชน การทบทวนและฝึกซ้อมปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของ จ.ระยอง รวมถึงแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ จ.ระยอง ระหว่างปี 2550-2554 ได้ถูกจัดทำขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งมีการเป้าหมายชัดเจน เช่น การควบคุมมลพิษ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จ.ระยอง มีโรงานอุตสาหกรรมประมาณ 150 โรงงาน ทั้งนี้ ตนรู้สึกดีใจที่มีการรับการสั่งการไปดำเนินการ รวมถึงมีการซักซ้อมแผนต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม แม้มีการซักซ้อมแผนดังกล่าวแล้ว แต่ตนอยากขอให้มีการประยุกต์แผนต่อไปถึงกรณีอุทกภัยและภัยธรรมชาติ โดยขอให้มีการตั้งศูนย์ที่จะรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ ในกรณีน้ำท่วม เราต้องเน้นเรื่องการช่วยชีวิตประชาชน และการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรอุตสาหกรรรม ซึ่งต้องมีการให้ความรู้แก่โรงงานต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจถึงการใช้เครื่องมือและเทคนิคในการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เพราะเรามีบทเรียนจากกรณีน้ำท่วมโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ตนมองว่า จากปัญหาโดยรวมในจังหวัดที่มีโรงงงานนั้น เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตนจึงอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงทางจังหวัด ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว มีความสะอาด โดยให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย การจำกัดขยะ และการทำให้ประชาชนในพื้นที่อุตสาหกรรมรักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนอยากให้จังหวัดระยอง จัดทำแผนดังกล่าวเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ อีกทั้ง สำหรับแผนต่างๆ ที่ได้มีการดำเนินการอยู่นั้น ตนขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเคร่งครัดกับโรงงานที่ยังไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะโรงงานที่เปิดใหม่ รวมถึงขอให้มีการวางหลักกติกาที่ชัดเจน นอกจากนี้ขอให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ไปดูแลการจัดโซนนิงสีเขียวให้มีการจัดทำพื้นที่สีเขียวในผังเมือง ซึ่งการแบ่งพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมกับพื้นที่ชุมชนอย่างเหมาะสม รวมถึงมีการจัดทำแผนดูแล ป้องกันสภาพสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพ

ต่อมาเวลา 11.30 น.นายประทีป เกาะแก้ว ตัวแทนประชาชนจากหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ หมู่ที่ 6 ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ได้เข้ามาในสำนักงานนิคมฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ปัญหาที่ดินของหมู่บ้าน ทับซ้อนกับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 20 ไร่ กว่า 125 หลังคาเรือน ขณะเดียวกันมีประชาชนเจ้าของบ้าน กว่า 100 คน ถือป้ายร้องเรียนด้านนอกสำนักงานนิคมฯ ทั้งนี้ นายนันท์ แสงสุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านซื้อบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวกว่า 8 ปีแล้ว แต่ช่วง 4-5 ปีหลังทางกรมป่าไม้ ได้ประกาศว่าหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์บุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ ตาม พ.ร.ฎ.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2492 ซึ่งมีข้อมูลยืนยันชัดเจน ขณะที่กรมที่ดินระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกประกาศพื้นที่ป่าสงวนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2514 แล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจว่าผ่อนบ้านไปแล้วมูลค่า 1.5-2 ล้านบาทแล้ว จะได้ที่ดินเป็นของตัวเองหรือไม่ ล่าสุด ได้งดส่งค่างวดบ้านมา 4 เดือนแล้ว เพื่อเป็นการประท้วงแต่กลับถูกธนาคารฟ้องร้องขึ้นศาลหลายราย ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อบ้าน จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาและคลี่คลายปัญหาให้กับชาวบ้านเป็นการด่วน ด้านนายกรัฐมนตรี รับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมรับปากมอบให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประสานกรมที่ดินดูแลช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ปลูกต้นมะฮอกกานีที่หน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้จัดเตรียมไว้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสฉลองวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้าครบ 45 ปี ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ และยังจัดเตรียมต้นไม้ดังกล่าวไว้อีก 44 ต้น เพื่อปลูกในวันจริง โดยต้นไม้ดังกล่าวเป็นต้นไม้ที่มีความยั่งยืน ล้มยาก ตายยาก และดูดมลพิษ รวมถึงเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ฉลองวันเกิดและรักษาสิ่งแวดล้อม หลังปลูกต้นมะฮอกกานี เป็นที่ระลึกบริเวณสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับหนังสือเรียกร้องจากสมาคมสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก และเครือข่ายชุมชนรักษ์ส่งแวดล้อม เรื่องขอให้ทบทวนการขยายโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่ม โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะรับปัญหาไปดำเนินการ อยากเห็นจังหวัดปลอดมลพิษ ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายสร้างส่งแวดล้อมที่ดี และขอความเห็นใจและขอเวลาให้รัฐบาลทำงานซึ่งจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เมื่อมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบเป็นระยะ ก็ขอให้อดทนอีกนิด

จากนั้นเวลา 12.00 น.นายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจแถวรับความเคารพจากหน่วยตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ณ ถนนสาย 8 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อชมการซ้อมแผนปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ศักยภาพของทีมดับเพลิงของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกลุ่ม ปตท.โดยมี นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) รายงานการซ้อมแผนปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ที่เห็นถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการซ้อมแผนฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น