อุบลราชธานี - นักวิจัยร่วมนักวิชาการ ผู้ประกอบการหอพัก ร้านค้า หาทางช่วยพลิกคืนชีวิตลำห้วยตองแวด ลำน้ำที่เลี้ยงคน 4 ตำบลในอำเภอวารินชำราบซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำเสียขั้นวิกฤตไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ขณะนี้ทำได้เพียงต้องแก้ที่จิตสำนึกของมนุษย์
ที่วัดบ้านโพธิ์ตก ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับนักวิจัยพื้นบ้าน นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร และผู้ประกอบการหอพักและร้านค้าที่ใช้ประโยชน์จากลำห้วยตองแวด ลำน้ำสาธารณประโยชน์ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลในอำเภอวารินชำราบ ถก “การพลิกฟื้นคืนชีวิต กู้วิกฤตห้วยตองแวด” โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับปัญหาของลำน้ำห้วยตองแวด ซึ่งมีพื้นที่ต้นน้ำมาจากตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ เป็นแหล่งน้ำใช้เลี้ยงผู้คนทั้งการใช้ดื่มกิน อาบ ล้างภาชนะ ไปจนถึงการทำเกษตรกรรม มีอาณาเขตครอบคลุมกว้างไกลถึง 4 ตำบล ซึ่งอดีตลำน้ำแห่งนี้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต่อมาเมื่อชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น และมีการตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำให้มีประชากรจากนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้ามาใช้ประโยชน์จากสายน้ำ
จึงเริ่มประสบปัญหาเพราะไร้ทิศทางการบริหารจัดการ ทำให้ลำน้ำห้วยตองแวดปัจจุบันอยู่ในสภาพวิกฤต สภาพน้ำไม่สามารถนำมาใช้ได้เหมือนอดีต
น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการวิจัยรูปแบบการฟื้นฟูและอนุรักษ์ห้วยตองแวด กล่าวถึงสภาพปัญหาของลำน้ำในวันนี้ว่า คุณภาพน้ำของห้วยตองแวดขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต สัตว์น้ำหลายชนิดได้สูญพันธุ์หายไปจากลำน้ำเพราะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งน้ำที่เป็นอาคารบ้านพัก ร้านค้า
รวมทั้งสารเคมีที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม คุณภาพน้ำปัจจุบันไม่สามารถนำมาใช้ผลิตน้ำประปา และไม่สามารถใช้ทำเกษตรกรรมได้เพราะมีความเป็นกรดเป็นด่างสูงมาก โดยชุมชนที่อาศัยลำน้ำแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิตเริ่มทราบถึงผลกระทบเมื่อเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยส่งมาเก็บข้อมูล
น.ส.กิ่งกาญจน์กล่าวถึงการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ลุ่มน้ำว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลายฝ่าย ลำพังชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงเสนอผลงานวิจัยให้ชุมชนทราบถึงมหันตภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทราบถึงปัญหาที่เกิดแก่ลำน้ำสาธารณะแห่งนี้แล้ว
ด้าน ผศ.ดร.อินทิรา ซาอีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจมีการมองว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีคือต้นตอทำให้ลำห้วยตองแวดวิกฤต ซึ่งเป็นความจริงส่วนหนึ่ง เพราะการมีมหาวิทยาลัยทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ตรงข้ามกับกฎระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตามไม่ทันความเจริญเติบโตของชุมชนที่รวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ส่วนของมหาวิทยาลัยปัจจุบันมีนักศึกษาพักอาศัยอยู่เพียง 1 ใน 4 ส่วนของจำนวนนักศึกษากว่า 14,000 คน และมหาวิทยาลัยมีระบบการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำ
“แต่ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ มหาวิทยาลัยจึงขอเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา โดยมีการนัดประชุมหารือกับหน่วยงานท้องถิ่น เจ้าของร้านค้า หอพักรอบมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ หลังการประชุมจะทราบทิศทางการแก้ปัญหาและวิธีการร่วมกันพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ลำน้ำแห่งนี้" รองอธิการบดีท่านนี้กล่าว
ด้าน พ.ท.ประยูร ทรงอยู่ ประธานผู้ประสานงานหอพักจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ผู้ประกอบการหอพักไม่ปฏิเสธที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำเน่าเสียในลำห้วยตองแวด เพราะปัจจุบันมีหอพักตั้งอยู่รอบมหาวิทยาลัยจำนวนมาก โดยมีห้องให้บริการนักศึกษาระหว่าง 8,000-10,000 ห้อง แต่ในอดีตการก่อสร้างหอพักไม่มีการควบคุมให้ต้องทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันจึงมีหอพักที่มีบ่อบำบัดน้ำเสียเพียง 30% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมและขอร้องให้ผู้ประกอบการหอพัก รวมทั้งร้านค้าขนาดใหญ่ทำบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำ
แต่ส่วนหนึ่งไม่ต้องการเสียเงินเพิ่ม ทั้งที่การทำบ่อบำบัดมีต้นทุนไม่กี่หมื่นบาท เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่พบ และอีกปัญหาคือ เทศบาลตำบลเมืองศรีไคยังไม่มีการวางระบบท่อระบายน้ำเชื่อมโยงไปตามชุมชน ทำให้น้ำเสียส่วนหนึ่งที่หอพัก ร้านค้า หรือบ้านเรือนปล่อยทิ้งออกมาเป็นไปตามยถากรรมไม่อยู่ในการควบคุม การแก้ปัญหาน้ำเสียในห้วยตองแวดจึงไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ทำได้เพียงใครมีจิตสำนึกต่อธรรมชาติก็ทำการบำบัดก่อนปล่อยน้ำออกมา
และอีกส่วนก็ยังปล่อยปละละเลย เมื่อมีเจ้าภาพร่วมคิดร่วมทำอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการหอพัก ร้านค้าก็พร้อมให้ความร่วมมือเพราะเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
ด้านนายวศโรจน์ ต่อหยกสกุลชัย รองปลัดเทศบาลตำบลเมืองศรีไค ระบุว่า เทศบาลตำบลเมืองศรีไคเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและเพิ่งตั้งมาไม่นาน หากมหาวิยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะหอพักมีมาก่อนจะมีเทศบาลฯ
สำหรับกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมใช้ควบคุมหอพักต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำได้เฉพาะหอพักขนาดใหญ่ที่มีห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป เพราะหอพักขนาดเล็กมีเพียงกฏหมายด้านการสาธารณสุข เมื่อปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดลงสู่ลำน้ำก็มีโทษแค่ปรับ และปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลด้านนี้เพียงนายเดียว ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างครอบคลุม การแก้ปัญหาขณะนี้ ทำได้เพียงการสร้างจิตสำนึกของคนที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น