xs
xsm
sm
md
lg

"สารพิษ" มันซ่อนอยู่ใต้ตึกหรูโรงงานเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิ่งก่อสร้างผุดพรายเป็นดอกเห็นในย่านอุตสาหกรรมเก่า แต่แฝงเร้นไปด้วยภัยพิษจากสารเคมีที่ผู้อยู่ไม่เคยรู้เลย (ภาพเอเอฟพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - บริษัทห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมผุดพรายขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วแคว้นแดนมังกร เร่งก่อสร้างสำนักงานการผลิตกินพื้นที่มหาศาล ด้านนอกดูหรูหรา ปลูกต้นไม้ประดับประดาช่วยดูดซับอากาศเสีย ทว่าภายใต้ความงดงามเปลือกนอกยังแฝงซ่อนไปด้วยมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในดินและในน้ำที่ตาเปล่ามองไม่เห็น

ครั้นเจ้าของโรงงานเหล่านี้โยกย้ายฐานการผลิตออกไป มรดกพิษร้ายในดินและน้ำยังคงอยู่และเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น

ในช่วง 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา เมืองใหญ่เกือบทุกเมืองของจีนล้วนได้รับผลกระทบสารพิษปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมการผลิต ประชาชนหลายล้านคนขณะนี้อาศัยอยู่บนผืนดินที่ปนเปื้อนพิษเคมี และพวกเขาไม่เคยรู้เลย

“รัฐบาลจีนยอมทุ่มงบแก้ไขปัญหาภายในประเทศ 100,000 ล้านหยวน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ซึ่งจะได้นำส่วนหนึ่งมาทำการสำรวจปัญหาสารพิษ แม้โครงการแก้ไขปัญหาฯอาจจะไม่ได้ตัดรากถอนโคนเขตอุตสาหกรรมเก่าทั้งหมด แต่ก็จะสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน และนำเงินอีกส่วนไปสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างงานให้ประชาชนหลายแสนตำแหน่ง” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระบุ

หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน รายงานว่า ผลการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่ปนเปื้อนสารพิษมีถึง 200,000 ตร.กม. ซึ่งมากกว่าประเทศไอซ์แลนด์ถึง 2 เท่า โดยหนังสือพิมพ์อุปมาว่าเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่จะปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ มันจะก่อปัญหาตั้งแต่อาหารปนเปื้อน ไปยันก่อโรคมะเร็งร้าย

การเผชิญหน้ากับสารพิษนับว่าเสื่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่สร้างบ้านและดัดแปลงดินเป็นพื้นที่เกษตร ใช้น้ำจากบ่อโดยตรง ก็จะได้รับสารพิษจากโลหะหนักไปเต็มที่ โดยเเฉาะสารเคมีจำพวกโครเมียมและเบนซิน

ชาวบ้านในเขตเมืองก็ไม่ได้น้อยหน้า อพาร์ตเมนต์หรูที่แห่ซื้อกันมา หวังจะพิงพำนักอาศัยให้ปลอดภัย แต่หารู้ไม่ว่าเจ้าสิ่งก่อสร้างนี้สร้างทับเขตอุตสาหกรรมเก่าที่ทิ้งสารเคมีพิษไว้ในดิน แรก ๆ อาจปลอดภัย แต่ระยะยาวย่อมกระทบสุขภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง วารสารไชน่าซิเคียวริตี้ เผยว่า ยิ่งเมืองขนาดใหญ่หาที่อยู่อาศัยยาก ๆ ยิ่งไม่ต้องสงสัยว่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่งสร้างเดิมทีก็เป็นโรงงานมาก่อน และในจีนมีมากกว่า 10 ภูมิภาค โดยเฉพาะปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ติดอันดับต้น ๆ เมืองที่ต้องเร่งแก้ปัญหาสารพิษโดยด่วน

เจ้าหน้าที่จีนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไช่จิงว่า ว่า ย่านธุรกิจใหม่ในเมืองใหญ่ที่ราคาที่อยู่อาศัยแพงหูฉีก แต่หากว่ารัฐบาลออกมาเผยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า มีสารพิษปนเปื้อน ราคาที่แสนแพงก็จะตกฮวบลงมาทันที เฉกเช่นพื้นที่พักอาศัยในเขตจินเม่าฝู่ ซึ่งเป็นย่านไฮโซแถบฟู่เฉิงเหมินใกล้วงแหวนที่ 3 กรุงปักกิ่ง ราคาที่อยู่แพงกว่า 50,000 หยวนต่อตารางแมตร แต่ว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นเดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงงาน

การสร้างอาคารทับสารพิษไว้ใต้ดินนับเป็นเรื่องน่าอันตรายยิ่ง เจ้าหน้าที่จีนหลายคนเผยว่า รัฐบาลจีนก็กำลังตระหนักถึงผลกระทบของสารพิษในดิน ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน จึงได้มีมาตรการเร่งด่วน ไม่นานนี้ผลสำรวจฯ คงเผยแพร่สู่สายตาประชาชน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าผลสำรวจดังกล่าวสมบูรณ์เพียงใด ทั้งนี้แผนการจัดการสารพิษขั้นสุดท้ายกำลังอยู่กับคณะมุขมนตรีเพื่อทำการอนุมัติต่อไป

เจ้าหน้าที่เผยว่า งานนี้กระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนรับหน้าที่ไปเต็ม ๆ ตั้งแต่การสำรวจและการเขียนแผนจัดการปัญหา แม้เรื่องนี้เป็นศักยภาพการแก้ปัญหาของระดับบน แต่กระนั้นบริษัทหลายพันแห่งก็ดูเหมือนจะกระตือรือร้นในการกำจัดสารพิษด้วย หลายแห่งเริ่มใช้เทคโนโลยีการพัฒนาปรับสภาพดินระยะยาวมาปรับใช้ แต่ตุ้นทุนการขจัดสารพิษนั้นสูงมาก นักวิจัยสิ่งแวดล้อมเผยว่า รัฐบาลไม่อาจให้ทุนสนับสนุนโครงการได้เต็มจำนวน

ศาสตราจารย์เหลย เหม่ย ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวิจัยภูมิศาสตร์และทรัพยากร แห่งสำนักสังคมศาสตร์จีน เผยว่าขณะนี้กรุงปักกิ่งเดินหน้าปฏิบัติการโครงการฯแล้ว ผู้ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมได้ทดสอบดินปนเปื้อนก่อนที่จะนำมาพัฒนาโครงการอสังหาฯ และผู้ประกอบการอสังหาฯ จะต้องนำดินที่ปนเปื้อนออกไปให้หมดก่อนจะเริ่มโครงการก่อสร้าง ดินที่ปนเปื้อนจะนำไปทิ้งยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ โดยเฉลี่ยแล้วโครงการอสังหาฯ 1 โครงการ ก็ต้องขนดินปนเปื้อนไปทิ้งมากกว่า 100,000 คิวบิกเมตร

เหลยเผยว่า บริษัทฟื้นฟูสภาพดินได้ทำการทดลองวิธีใหม่เรียกว่าการฟื้นฟูสภาพทางชีววิทยา อาทิ การปลูกต้นเฟิร์นไว้ในบริเวณปนเปื้อนจะช่วยดูดซับสารพิษในดินได้ "อย่างไรก็ดี การทำความสะอาดสารพิษมีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน ต้องใช้คนมาก ว่าจ้างบริษัทฟื้นฟูอีกเยอะ ใช้เงินมหาศาล กว่าจะจัดการได้"

ผู้คนนับไม่ถ้วนอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นย่านอุตสาหกรรมเก่า และได้รับพิษเป็นมะเร็งผิวหนังจำนวนมาก เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่พัฒนาเหล่านั้นแล้วก็ตาม

สถิติทางวิทยาศาสตร์พบว่า ชาวเมืองที่อาศัยบนตึกสูงไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ผิดกับผู้คนชานเมืองที่ต้องสัมผัสกับดินจะมีความเสี่ยงมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น