กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าเสริมแกร่ง SMEs อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน กรุยทางสู่ตลาด AEC ด้าน “กสอ.” เปิดเวทีจัดสัมมนาแนะกลยุทธ์เด็ด ดึงกูรูผู้เชี่ยวชาญสร้างฐานความรู้ผู้ประกอบการ เน้นดีไซน์โดนใจลูกค้าไทย-เทศ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ตนเองในอนาคต
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “AEC Digest : ย่อยเรื่องยากให้ง่าย ทำเรื่องลึกให้ตื้น ให้อุตสาหกรรมไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องเรือน ตื่นตัวก่อนตกขบวน” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งระบบ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าอัตราการเติบโตและยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นแต่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ยังไม่ครอบคลุมในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยจะต้องหันมาเจาะตลาดกลุ่มอาเซียนมากขึ้นเพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างเร็ว จากปัจจุบันที่ทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นหลัก ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งศึกษาข้อดีและข้อเสียของภาคประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพื่อนำมาสู่การวางแผนเชิงรุกให้ทันการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
“การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากเรายังเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งแหล่งวัตถุดิบในประเทศยังไม่สามารถรองรับความต้องการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งวัตถุดิบใหม่ด้วยการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีการนำเข้าอยู่ที่ 10 ล้านคิวบิกเมตรต่อปี ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าว
ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจาก กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้าส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิต รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ SMEs สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทันเวลา ซึ่งหากประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการไทยนับว่ายังมีจุดแข็งในด้านของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ แต่จำเป็นจะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และการออกแบบที่สามารถตอบสนองลูกค้าในทุกกลุ่ม
ขณะเดียวกัน ในด้านของสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งสถานะปัจจุบันของเราถือว่ายังมีความเป็นมาตรฐานสากลเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ยังไม่เข้มงวดเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมมากนัก
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าในการสร้างกลยุทธ์ให้ผู้ประกอบการที่จะต่อยอดการดำเนินธุรกิจจากผู้รับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40% ไปสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรม และยกระดับผู้ประกอบการไทยให้ก้าวทันผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ โดยการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ตลาด AEC รวมทั้งจะต้องเร่งสร้างโอกาสและลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการที่เตรียมพร้อมจะลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในด้านการจัดการลอจิสติกส์ ข้อมูลทางกฎหมาย เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การลงทุนในภูมิภาค
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ของประเทศไทยประกอบด้วย ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ไม้พื้น วงกบ ประตู หน้าต่าง กลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และกลุ่มไม้อัด ไม้บาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่ากลุ่มอื่น มีผู้ค้าและผู้ผลิตไม้ทั่วประเทศไทยกว่า 10,000 ราย เฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากกว่า 2,700 ราย มีเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจมากกว่า 50,000 ราย แรงงานในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำประมาณ 800,000 คน ขณะที่ผู้ผลิต 95% จะเป็นกลุ่ม SMEs ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมียอดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท วัสดุก่อสร้าง 60,000 ล้านบาท
การจัดสัมมนา “AEC Digest : ย่อยเรื่องยากให้ง่าย ทำเรื่องลึกให้ตื้น ให้อุตสาหกรรมไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องเรือน ตื่นตัวก่อนตกขบวน” ที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเรือน ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจไม้นั้น จะเป็นอีกช่องทางหลักในการให้ความรู้ แนะแนวกลยุทธ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC