กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเวทีผู้ประกอบการไม้แปรรูปและเครื่องเรือน ระดมสมองวางกลยุทธ์เสริมแกร่งอุตสาหกรรมไม้ทั้งระบบรับมือวิกฤตอียูและก้าวสู่ตลาด AEC ปี 2558 เอกชนยื่นรัฐเร่งปรับปรุงกฎหมายด่วน ไม่เช่นนั้นไทยตกขบวนแน่หลังยอดส่งออกวูบต่อเนื่อง
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “AEC Digest : ย่อยเรื่องยากให้ง่าย ทำเรื่องลึกให้ตื้น” ให้อุตสาหกรรมไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องเรือน ตื่นตัวก่อนตกขบวน ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ว่า ได้รับทราบปัญหาของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทยที่ขณะนี้มียอดขายลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากต้นทุนที่สูงประกอบกับได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน ดังนั้นจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวหาตลาดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพคือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ซึ่งจะมีประชากรกว่า 600 ล้านคน
“ขณะนี้ต้นน้ำมีปัญหาคือขาดแคลนไม้ที่จะนำมาแปรรูป ซึ่งเอกชนอยากให้เราช่วยประสานงานกับทุกส่วนเพื่อที่จะปรับปรุงพระราชบัญญัติไม้ที่ใช้มานานหลายสิบปีมากให้เอื้อต่อการทำธุรกิจนี้ ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันไม่ได้ใน AEC” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ภาพรวม 6 เดือนปีนี้อุตสาหกรรมไม้แปรรูป ไม้อัดไม้บาง มีการส่งออกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 10% ขณะที่เฟอร์นิเจอร์มีมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท มีการเติบโตลดลง 20% สาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านแรงงานและวัตถุดิบที่ไทยยังคงมีทิศทางสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับเจอภาวะตลาดซบเซาจากวิกฤตยูโรโซน ซึ่งตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นปีนี้การส่งออกรวมดีสุดจะติดลบ 5%
“ไม้แปรรูปนั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีจึงทำให้ตลาดดีขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ยังมีปัญหาราคาวัตถุดิบและแรงงานที่สูงผลักดันให้ราคาเฉลี่ยของไทยสูงกว่าคู่แข่ง 10% ซึ่ง AEC เป็นโอกาสและวิกฤต หากไทยไม่มีการปรับตัวรองรับ ทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย การปรับเทคโนโลยีคงจะสู้ได้ยาก ซึ่งหากมองวันนี้คืออุตสาหกรรมนี้ยังไม่พร้อมเข้าสู่ AEC ได้เพราะยังมีอีกส่วนที่จะตกขบวนแน่นอน” นายจิรวัฒน์กล่าว
นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กสอ.กล่าวว่า กสอ.ได้เปิดเวทีสัมมนาครั้งนี้ซึ่งมีกว่า 700 บริษัทที่เข้าร่วมรับฟังเพื่อที่จะปรับตัวให้พร้อมรับมือ AEC ได้ทันเวลา ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ที่จดทะเบียนมีประมาณ 1.2 หมื่นราย แรงงานอยู่ในระบบเกือบ 1 แสนราย