xs
xsm
sm
md
lg

มรส.ร่วมเสวนาปราชญ์ท้องถิ่นต่อยอดเรียนรู้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - มรส.จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมปราชญ์ท้องถิ่น นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ที่แปลกใหม่

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และสมาชิกชุมชนตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกันจัดโครงการ “รอยยิ้มชุมชน รอยยิ้ม มรส.” ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้น โดยนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ กว่า 100 ชีวิต ได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อร่วมกันปลูกป่าชายเลน บริเวณศูนย์ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน หมู่ที่ 4 ตำบลลีเล็ด และจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน และองค์กรชุมชน เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องการจัดการการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว และการพัฒนาชุมชน ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะสามารถนำไปใช้เสริมความเข้มแข็งแก่การสื่อสารเพื่อการพัฒนาชุมชนแก่ทั้งตัวนักศึกษา และชุมชนเอง

“การเสริมสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาโดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการทรัพยากรชุมชนไปพร้อมๆ กับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่ได้เรียนมา นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับ คือ การถอดบทเรียนจากภูมิปัญญาของชุมชน ที่เกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนบนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ด้วยการพึ่งพา ไม่ใช่ด้วยการพึ่งพิง เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่มุ่งหวังให้นักศึกษาเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวความรู้จากสถาบันแห่งนี้ ด้วยความมุ่งมาด ภายใต้คุณลักษณะที่พึงประสงค์คือการเป็นบัณฑิตที่มีจิตสำนึกรักท้องถิ่น และมุ่งมั่นในการพัฒนาบ้านเกิด เพราะนั่นต่างหาก คือ บทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

นายประเสริฐ ชัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน กล่าวว่า การที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในชุมชนนั้น ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของสถาบัน และชุมชน และเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันระหว่างสมาชิกชุมชนและนักศึกษา รวมถึงระหว่างสมาชิกชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษากับสมาชิกในชุมชนแล้ว เรายังมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า ในระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชนนั้น เรามุ่งเน้นให้เกิดจากความต้องการของชุมชนที่ต้องการจัดการวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้สัมพันธ์ และสอดคล้องกับความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการจัดการทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชีวิตของสมาชิกชุมชนเป็นแกนหลัก ชาวบ้านจึงต้องเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนด้วยทุนทางทรัพยากรที่มี

ด้าน ผศ.ดร.นิตย์ หทัยวสีวงศ์ สุขศรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสื่อสารเพื่อการพัฒนาด้านชุมชนสัมพันธ์ (Community Relations) ของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่คณะวิทยาการจัดการได้ดำเนินการกิจกรรมร่วมกับชุมชน โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มจากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชน และตัวแทนสมาชิกในชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพูดคุยถึงความต้องการในการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการสื่อสารกับชุมชนแล้ว โครงการนี้ยังถือได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษา โดยได้ฝึกทักษะการสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และการถ่ายภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่นักศึกษาจะก้าวออกไปเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น