สถานการณ์ความรุนแรงในการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งย่างเข้าปีที่ 8 แล้ว แม้ว่ากองทัพบกจะประสานเสียงกับกองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อบอกกับสังคมในประเทศและคนในพื้นที่ว่า วันนี้สถานการณ์ดีขึ้น กอ.รมน.สามารถ ควบคุมพื้นที่ ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และต่างประเทศโดยเฉพาะ “โอไอซี” มีความเข้าใจในปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
แต่โดยข้อเท็จจริงหลังจากมีการวางระเบิดตู้เอทีเอ็มของธนาคาร 4 แห่ง ใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้บอกเหตุให้ทราบว่า ณ วันนี้ พื้นที่สำคัญๆ ที่เป็นพื้นที่ “สีแดง” ไม่ว่าจะเป็นบันนังสตา, รือเสาะ, รามัน, ยะรัง, ระแงะ และอื่นๆ ที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “อาร์เคเค” และความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังอยู่ในสายตาของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ เมื่อโอกาสเปิดมีช่องจังหวะ กองกำลังนักรบประชาชน หรือ “อาร์เคเค” ก็พร้อมที่จะปฏิบัติการทันที และปฏิบัติการเกือบทุกครั้งประสบความสำเร็จ
ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ซึ่ง กอ.รมน. เชื่อว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น สุไหงปาดี, ทุ่งยางแดง, ยะหา, ธารโต, สายบุรี, ยะหริ่ง และอื่นๆ รวมทั้งในเขตเทศบาลนครยะลา, เขตเทศบาลนครปัตตานี และเทศบาลเมืองนราธิวาส ก็ยังเป็นเขตชุมชนที่ไม่ปลอดภัย เพราะบรรดา “แนวร่วม” ยังเคลื่อนไหวปฏิบัติการทาง “การข่าว” และงาน “การเมือง” ที่พร้อมในการก่อวินาศกรรมเป้าหมายที่ต้องการ
และแม้แต่พื้นที่ของ จ.สงขลา ตั้งแต่ อ.จะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย, นาทวี และแม้แต่ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งไม่อยู่ในกลุ่ม 4 อำเภอ ที่ใช้ พ.ร.ก.ความมั่นคง ซึ่งแม้ว่าจะมีการการก่อเหตุร้ายน้อย หรือไม่เกิดเหตุเลย ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งปลอดภัยแล้ว เพียงแต่ที่พื้นที่เหล่านี้ไม่มีเหตุร้ายเป็นเพราะ พื้นที่ของ 5 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่หลบซ่อน เป็นพื้นที่ “ฟักไข่” ของขบวนการ และในอนาคตพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ส่งกำลังบำรุงให้กับ “อาร์เคเค” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือเกิดเหตุร้ายเฉลี่ยวันละ 3-4 เหตุการณ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้กลายเป็นสถิติ ที่ทำให้มองเห็นว่า “อาร์เคเค” ต้องการคงสถิตินั้นไว้ เพื่อมิให้ มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุนเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัด และให้ทั้งโลกเห็นว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และมีคนตายรายวันจากการปฏิบัติการทางทหารของรัฐไทย
หากมองด้วยสายตาของความเป็นธรรม อาจจะเห็นว่า ในระยะหลังๆ ของ ปี 2555 ที่ผ่านมา กอ.รมน.มีความสำเร็จอยู่บ้างในการติดตามตรวจค้นเป้าหมายที่เป็นที่ซ่องสุมอาวุธ เป็นที่หลบซ่อนของ “แนวร่วม” ทั้งในชุมชนเมืองและในพื้นที่ชนบท ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดอาวุธ ระเบิด พร้อมจับเป็นและวิสามัญฯ แนวร่วมได้จำนวนหนึ่ง แต่นั้นไม่ได้หมายถึงความสำเร็จที่แท้จริง
เพราะหลังการจับกุมตรวจยึด “อาร์เคเค” จะดำเนินการตอบโต้ในทันที โดยเป้าหมายยังอยู่ที่พลเรือน คือ ประชาชน และหน่วยงานที่อ่อนแอ เช่น ชรบ. และ อ.ส. และ อ.ส.พท.เป็นต้น รวมทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของ “เซลล์” หรือแนวร่วม รุ่นใหม่ที่ถูกฝึกทดแทนแนวร่วมรุ่นเก่าที่ถูกจับกุมหรือถูกวิสามัญ ดังนั้น จำนวนแนวร่วมที่หายไปเป็นเพียงส่วนน้อย แต่แนวร่วมที่เกิดใหม่ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความรุนแรงยังไม่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงกลายเป็น “กับดัก” ที่เหมือนกับกองทัพถูก “ขึงพืด” จนขยับออกจาก หลุมพรางและกับดักของสถานการณ์ไม่ได้ การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อใช้ พ.ร.ก.ความมั่นคงจึงทำไม่ได้ การจะส่งกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-2 และ 3 กลับสู่ที่ตั้งยิ่งทำไม่สำเร็จ เพราะกองพลที่ 15 ค่ายพญาอินทิราที่ตั้งขึ้นมากว่า 3 ปี และหวังให้เป็นกองกำลังที่เข้ามาทดแทนกองกำลังจากกองทัพภาคที่ 1-2 และ 3 จนถึงบัดนี้ ยังไม่สามารถบรรจุกำลังพลอาวุธยุทธโธปกรณ์ตามแผนงานได้
โดยเฉพาะเรื่องกำลังพลที่ไม่มีใครต้องการบรรจุเป็นกำลังพลอย่างเต็มใจ ทำให้กองพลที่ 15 เป็นกองพลที่มีแต่ “เปลือก” มีแต่คนวิ่งหนีไปอยู่ที่อื่นๆ จนวันนี้กองทัพภาคที่ 4 เองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะ กองพลที่ 15 ไม่พร้อม กำลังรบของกองทัพภาคที่ 4 ที่ต้องรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่แค่ พล.ร. 5 เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยกำลังรบของ กองทัพภาค 1-2 และ 3 ในการรักษาสถานการณ์ ด้วยการตรึงสถานการณ์สงครามประชาชนเอาไว้เป็นตั้งรับ และจะสูญเสียงาน “การเมือง” ไปเรื่อยๆ เพราะ สิ่งที่กองทัพและ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำลงไปสวนกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ทหารจากกองทัพภาคต่างๆ กลับที่ตั้ง แต่ให้ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่
แต่ในขณะเดียวกัน ในขณะที่กองพลที่ 15 มีปัญหาจนไม่สามารถเป็นที่หวังได้ว่าจะเป็นหน่วยรบหรือหน่วยพิทักษ์ความปลอดภัยและอธิปไตยของประเทศได้หรือไม่ หรือต้องรอนานอีกกี่ปี สิ่งที่น่าจับตามองคือ กองทัพบกได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงกลาโหมในการจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ขึ้น ในกองทัพภาคที่ 4 เพื่อให้มีกองกำลังมากพอที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแม้ว่า ณ วันนี้ กระทรวงกลาโหม ยังไม่เห็นชอบในเรื่องของกองทัพน้อยที่ 4 แต่สถานการณ์ความไม่สงบยังดำรงอยู่และรุนแรง ประกอบกับปัญหาของกองพลที่ 15 ที่ยังเป็นกองพล “ลูกผีลูกคน” อยู่ โอกาสที่จะเห็นกองทัพน้อยที่ 4 เป็นกองทัพใหม่ในจังหวัดภาคใต้ก็ยังมีอยู่
ดังนั้น พัฒนาการการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จากปี 2547 เป็นต้นมาจนถึง ปี 2555 จึงกำลังกลายเป็นพัฒนาการที่สร้างความเติบโตให้กับทางกองทัพ และทำในสิ่งที่กองทัพต้องการโดยการอ้างว่าจะเป็นการสร้างความสงบให้กับพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับข้อเท็จจริง และสวนทางกับความคิดความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องที่กองทัพทำอยู่ ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องการ “เลี้ยงไข้” และการ “ค้าสงคราม” โดยมีการหยิบเอาเรื่องการจัดซื้อ “เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 เรื่องการจัดซื้อ เรือเหาะ” ที่สุดท้ายกลายเป็นความสูญเปล่าทางงบประมาณ เพราะ ไร้ซึ่งประโยชน์ในการรักษาความสงบ และการแก้ปัญหาสถานการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น
และทั้งหมดคือ 8 ปี แห่งการพัฒนาการของกองทัพของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีหวังหรือสิ้นหวังกับการดับไฟใต้อยู่ที่การติดตามตรวจสอบของผู้อ่าน และผู้ติดตามสถานการณ์ เพราะในโลกของการสื่อสาร ณ วันนี้ ไม่มีใครที่จะ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ได้อีกต่อไป