xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กองทัพน้อย” สำคัญไฉน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- สัปดาห์ก่อนที่ “กระทรวงกลาโหม” “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก ผบ.เหล่าทัพ เข้าประชุมหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างของกองทัพ เพื่อให้กองทัพไทยมีความทันสมัย กะทัด รัด ชัดเจน และให้มีประสิทธิภาพที่จะสอดรับภัยคุกคามที่จะเกิดในอนาคต

เรียกกันเล่น ๆว่า “คุมกำเนิดกองทัพ”

สืบเนื่องมาจาก การประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.สุกำพล เป็นประธานการประชุม เมี่อวันที่ 29 ก.พ.55

ครั้งนั้น พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เข้าร่วมประชุม ขาดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ

วันนั้น รมว.กลาโหม ได้กำหนดนโยบายส่งตรงจาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขอให้มีการปรับโครงสร้างของกองทัพให้มีความเหมาะสม กะทัดรัด ทันสมัย และสมดุลระหว่างหน่วยปฏิบัติกับควบคุมการบังคับบัญชา พร้อมรองรับภารกิจสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

มีการสรุปว่า การขยายหน่วย หรือ การจัดตั้งหน่วยใหม่จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และเนื่องจากเหตุผลความจำเป็นของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ทหารต้องพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจตามรัฐธรรมนูญ ภาระหน้าที่ในมิติใหม่ และสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากสภาพปัญหาด้านกำลังพลของกระทรวงกลาโหม และการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลที่มีจำนวนจำกัด ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการกองทัพให้มีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดแนวความคิดการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ เพื่อให้ในที่ประชุมได้มีการพิจารณา 9 ข้อ

1. การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพกะทัดรัดเหมาะสม สมดุลกับส่วนต่าง ๆ
2. การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานใหม่ต้องมีเหตุผลรองรับชัดเจน และต้องเป็นหน่วยงานที่รองรับนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย
3. จะต้องพิจารณามาตรฐานการจัดหน่วยให้เหมาะสม โดยไม่เป็นการเพิ่มอัตรากำลังพล งบประมาณ

4. ต้องมุ่งสู่การพิจารณาประสิทธิภาพของภารกิจมิใช่เป็นการปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อแก้ไขกำลังพล
5.ใช้การรวมหน่วยงาน หรือ การรวมภารกิจหน่วยงานที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดความมีเอกภาพในการปฏิบัติงาน
6.ยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่คุ้มค่ามีความซับซ้อน และไม่ประหยัด หรือ ปรับโอนงานบางอย่างให้เอกชนดำเนินการ

7.มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพกำลังพล ด้วยระบบการบริหารจัดการของกำลังพลที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
8.การปรับลดอัตรากำลัง ควรมุ่งเน้นการปรับลดกำลังพลที่บรรจุจริงควบคู่กันไป ไม่ใช่การปรับลดอัตรา รวมทั้งการดำเนินการ ต้องให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสม
และ 9.จะต้องคำนึงถึงหลักสากลธรรมเนียมปฏิบัติของกองทัพอารยประเทศ

เนื่องจาก20ปี ที่ผ่านมา มีการลดกำลังพลจาก 7แสนนาย เหลือเพียง 3แสนนายในปัจจุบัน ขณะเดียวกันสมาชิกสภากลาโหมได้เห็นชอบแผนการพิจารณาปรับโครงสร้างของกองทัพทั้ง 9 ข้อ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาทบทวนแผนแม่บทในการปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพในปี 2550 - 2559 เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยนำแผนแม่บทในห้วงระยะเวลาในปี 2550- 2555 นำข้อดีข้อเสียมาปรับปรุงปรับใช้ในปี 2556-2559

ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุกำพล ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.เสถียร เป็นประธาน และรองปลัดกระทรวงกลาโหม และนายทหารที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย มีเสนาธิการทหารเป็นประธาน และคณะทำงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้องของแต่ละเหล่าทัพเป็นกรรมการ โดยมีการพิจารณาอยู่ 2 ส่วนคือการพัฒนาระบบงาน และโครงสร้าง

หลังจากมีคำสั่งชัดเจนจากสภากลาโหม การประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่มีผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าเข้าร่วมประชุม ตั้งแต่พล.อ.เสถียร พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะมาถึงกลาโหม ก็ปาไป 9 โมงกว่า(09.00น.)ท่ามกลางข่าวลือว่าจะไม่มายังมี พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่เพิ่งกลับจากประเทศสิงคโปร์หมาดๆ รวมถึง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก พล.อ.อ.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ เสนาธิการทหารอากาศ เข้าประชุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ขาดเพียงพล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.ที่เดินทางไปยังประเทศอังกฤษกลับมาไม่ทัน

ประชุมกว่า 2 ชั่วโมง “บิ๊กโอ๋” ออกมาให้ข่าวว่า เป็นการพูดคุยเรื่องการปรับโครงสร้างกองทัพ แต่ยังไม่จบ

เพียงแค่ได้รับทราบข้อเสนอและข้อคิดเห็นของเหล่าทัพว่า คิดอย่างไรบ้างหลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลได้ให้แนวทางไปแล้ว ซึ่งได้พูดคุยรายละเอียดในส่วนของกรทะรวงกลาโหม กองบัญชากองทัพไทย เมื่อได้รับฟังข้อมูลเหตุผลจากทุกคนแล้วจะดำเนินการให้ใกล้เคียงกับความต้องการของเหล่าทัพมากที่สุด

ส่วนจะมีการจัดตั้งหน่วยใหม่ เช่น กองทัพน้อยที่ 4 ขึ้นมาหรือไม่นั้น อยู่ที่เหตุผล ซึ่งกองทัพบกก็เสนอมาเหมือนกัน แต่ต้องดูก่อนว่า จะให้หรือไม่

“ขณะนี้อย่าเพิ่งรีบร้อนไปดูว่า จำเป็นหรือไม่จำเป็น อย่าเพิ่งบอกว่าตกลงหรือไม่ตกลง ขอให้ได้ดูและพิจารณากันในหมู่ของผู้รู้ทุกด้านก่อน “บิ๊กโอ๋กล่าวสั้นๆ

อย่างไรก็ตามในการหารือก็ไม่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี2555 ซึ่งทางเหล่าทัพคงจะส่งรายชื่อให้ภายในกรอบระยะเวลา คือ ช่วงวันที่ 15 ส.ค. นี้

การประชุมครั้งนี้ จึงโฟกัสไปที่เรื่องการตั้ง “กองทัพน้อยที่ 4” มาช่วยดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องหลัก!

เรื่องนี้ข่าวแว่วว่าทำเอา “พล.อ.อ.สุกำพล” ที่อยากจะคุมกำเนิดกองทัพ ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะสวนทางการปรับโครงสร้างกองทัพ

หนาหูว่า พล.อ.สุกำพล อยากจะปัดฝุ่น ยุบรวม “กองทัพน้อยที่ 1,2,3” ต่างหาก เพราะมีแนวคิดมากว่า 10 ปี

เพราะการที่จะมาขอตั้ง “กองทัพน้อย 4” ถือว่าไปซ้ำกับงานที่มีการเสนอตั้ง “ พล.ร.15” หรือกองพลทหารราบที่ 15 รักษาพระองค์ ที่จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2555 แทนที่จะเป็น กรกฎาคม 2556 ก่อนหน้านั้น แล้ว

แถมก่อนหน้าก็มีการเสนอก่อตั้งกองพล ทหารราบที่ 7 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้กองทัพภาคที่3และมีการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่3 ที่ค่ายติณสูลานนท์ จังหวัดขอนแก่น ภายใต้กองทัพภาคที่2

เรื่องนี้ไม่รู้ว่าโยงไปถึงการโยกย้ายนายทหารประจำปี 2555 หรือไม่!

เพราะจากรายชื่อการโยกย้ายนายทหารประจำปี 2554 จะเห็นได้ว่า กองทัพภาคที่ 1 ไม่มีการโยกย้ายเนื่องจากเกรงปัญหาแรงกระเพื่อมอย่างชัดเจน
แตกต่างจากกกองทัพภาคที่ 2 และภาค3 ที่โยกย้ายชัดเจน อย่าง “ พล.ต.วิบูลย์พงศ์ กลั่นเสนาะ” (ตท.11) รองแม่ทัพภาคที่ 2 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 2 หรือ “พล.ต.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 3 ที่ขึ้นเป็น แม่ทัพน้อยที่ 3

ทำงานกันมาเกือบ 1 ปี ก็ไม่น่าจะปัญหาอะไร เพียงแค่เป็นอัตราที่เขา…..ตั้งไว้....เท่านั้น

พูดง่ายๆตำแหน่งนี้ เอาไว้ทำอะไร เหมือนลอยๆ ไว้

“บิ๊กโอ๋”คงจับยามสามตาดูว่า ที่ผ่านมาคนเขาก็สงสัย เหลือเกินว่า ทำไมต้องมีตำแหน่งแม่ทัพน้อยด้วย ไม่รู้ว่าจำเป็นไหมในปัจจุบัน มีอำนาจสั่งการขนาดไหน เทียบเท่าแม่ทัพภาค หรือว่ารองแม่ทัพ กันแน่

หรืออย่างคำถามที่ว่า มีไว้เพื่ออะไร เพราะการจัดกำลังขนาดใหญ่ในรูปแบบกองทัพน้อยก็ไม่มี จะมีก็แต่ กองทัพภาค กองกำลัง กองพล หรือไปเห็นว่า หากไม่จำเป็น ก็ควร ปิดอัตราไป จะได้ลด จำนวนนายพลได้

มีความเห็นอย่างนี้ก็เลยอยากยุบๆไปซะ ประหยัดงบประมาณด้วย! แถมลดนายพลได้ด้วย

อีกฝ่ายก็คงเห็นว่า “บิ๊กโอ๋”จะมายุบ “กองทัพน้อยที่ 1,2,3” ได้ยังไง งบประมาณปี 2556 ก็ทำไว้แล้ว ก็รู้ๆอยู่

โดยเฉพาะ กระทรวงกลาโหม ได้งบกว่า 180,811,381,800 บาท

ไม่รู้ชั้นกรรมาธิการงบประมาณ ที่กำลังแปรญัตติตอนนี้ มีการตัดลดลงหรือไม่

อย่างงบประมาณปี 2554 ก็มีเพียง 168,501,828,300 บาท ซึ่งน้อยกว่างบประมาณในปี 2555 หากเทียบกับงบประมาณ 2556 แล้ว รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีการตั้งงบประมาณให้กองทัพมากกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึง 12,309,553,500 บาท

หากถามว่าได้งบประมาณมากแล้วจะไปปรับโครงสร้างทำไม ก็คงต้องกลับไปอ่านนโยบาย 9 ข้อข้างต้นอีกรอบ

แต่ที่แน่ๆใครจะไปรู้ว่า” พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา” (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชาย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. จะได้ขึ้นเป็น “แม่ทัพน้อยที่ 3” ในอีกปีมะโว้โน้นหรือไม่!!! เพื่อไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า

หรืออย่างคนข้างนอกกองทัพ บางคนเขาก็นึกว่า “แม่ทัพน้อย” เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองทัพภาค ตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา วางแผน ควบคุมกำกับดูแลต่อการปฏิบัติการยุทธ์ของหน่วยกำลังรบ พาลไปหาว่า “รองแม่ทัพ” นี้ก็น่าจะเป็น “แม่ทัพน้อย” ไปโดยตำแหน่ง ซะอย่างนั้น

บางคนก็ไปคิดว่า “รองแม่ทัพภาค” จะต้องเป็นอัตราพลตรี ส่วน “แม่ทัพน้อย” อัตราพลโท เทียบเท่าแม่ทัพภาค แต่อำนาจน่าจะน้อยกว่า หรือก็ไปคิดว่า แนวหน้า งานยุทธการ ต้องเป็นของ “รองแม่ทัพ" ส่วนแนวหลัง งานส่งกำลัง ก็ต้องเป็นงานของ “แม่ทัพน้อย”

ถ้าจะเอาแบบฮาๆ มีการเปรียบเทียบ “แม่ทัพน้อย”กับ “รองแม่ทัพ”กับที่บ้าน คือภรรยาหลวง คือ ผู้บัญชาการ ควบคุมทุกอย่าง เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจค้นและสอบสวน ผู้ช่วยภรรยาคนที่1(ภรรยาน้อยคนที่1) เป็นรองแม่ทัพ คอยช่วยดำเนินกลยุทธ กรณีผู้บัญชาการ(ภรรยาหลวง)ไม่ว่าง ส่วนผู้ช่วยภรรยาคนที่2(ภรรยาน้อยคนที่2) เป็นแม่ทัพน้อย คอยส่งกำลัง(แรงใจ)ให้ตลอดเวลา และช่วยดำเนินกลยุทธแบบไม่มีเหน็ดเหนื่อย

เราก็ไม่รู้ แม่ทัพน้อยสำคัญไฉน!!! ใจจริงไม่รู้ว่า ทหารเขาจะฮึม! ไปยุบของเขาไม่กลัวกันเหรอ

แต่ที่แน่ๆ ข้อเสนอในการประชุมวันนั้น เรื่องขอตั้ง “กองทัพน้อย 4” บิ๊กโอ๋ ยังไม่ตัดสินใจไฟเขียว ตามที่ กองทัพบกเสนอมา เพราะต้องคุยกันก่อนยาว ๆ

เพราะเรื่องการปรับโครงสร้างกองทัพ ที่มีหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน ยังมีอีกเยอะ เพราะประเทศไทย ยังจำเป็นต้องใช้ทหารจำนวนมาก จากปัจจัยหลาย ๆด้าน

ปัญหาที่ทุกคนทราบกันดีคือ การยุบรวมหน่วยลดกำลังพล ทุกครั้งเกิดปัญหา เพราะตำแหน่งหายไป เป็นใครๆ คงไม่ยอม เหมือน กองทัพน้อย ที่ ทบ.มีแผนจะยุบมานานเป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้ยุบ

ข้อเสนอปรับโครงสร้างกองทัพ ถ้ามองในมุมการเมืองจ๋า! บางฝ่ายก็ว่าคนอยู่ที่คนไกลสั่ง แต่ถ้าดูดีๆรัฐบาลที่แล้วโน้นก็อยากจะลดเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสก็เท่านั้น หลายหน่วยจึงจับจ้องไปที่กองทัพบก ที่มีลักษณะเป็นแรงงาน ( labor หรือ manpower intensive) มากกว่า (technology intensive) ที่ ทร. และ ทอ.กำลังดำเนินการอยู่

แถมยังลามไปถึง “วิทยาลัยพยาบาล” ของแต่ละเหล่าทัพ ที่ว่าทำไมเรียนร่วมกันไม่ได้ มีอะไรที่แตกต่างกัน และ แตกต่างกัน มันต่างกันขนาดไหน ไม่ต่างกับ “กองทัพน้อย”ด้วยซ้ำ! แต่อีกมุม พยาบาลก็เป็นสาขาที่ขาดแคลน และกองทัพก็จำเป็นต้องมีในนานาประการ

แนวคิดปรับโครงสร้างที่แท้จริง ก็แค่เพื่อลดการสร้างอาณาจักร และยศของทหารเท่านั้น.

กำลังโหลดความคิดเห็น