xs
xsm
sm
md
lg

เสธ.ทร.แจงมะกันแค่เตรียมอุปกรณ์ ยังไม่ได้ส่งมาถึงอู่ตะเภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.ดำรงค์ศักดิ์ ห้าวเจริญ (แฟ้มภาพ)
“เสธ.ทร.” ระบุสหรัฐฯ แค่อยู่ในขั้นเตรียมการจัดส่งอุปกรณ์เข้าพื้นที่ ยังมาไม่ถึงอู่ตะเภา ยันพร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเข้ามาหากรัฐบาลไฟเขียวให้นาซาใช้พื้นที่ ด้านกองทัพบกเผยการประชุมร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดให้ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียด พร้อมทำร่างข้อตกลงให้ชัด แล้วประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบ ส่วนการปฏิบัติงานต้องมีเจ้าหน้าที่ไทยร่วมอยู่ด้วย


ที่หอประชุมกองทัพเรือ เช้าวันนี้ (26 มิ.ย.) พล.ร.อ.ดำรงค์ศักดิ์ ห้าวเจริญ เสนาธิการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้กองทัพเรือชี้แจงการขนย้ายยุทโธปกรณ์ของนาซาเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ว่าอาจจะมีการเข้าใจผิดในบางประเด็น ซึ่งจากการตรวจสอบจากเว็บไซต์ที่เป็นข่าวเพียงแต่บอกว่าอุปกรณ์ได้เตรียมการจัดส่งเข้ามาในประเทศไทย โดยออกมาจากสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้บอกว่ามาถึงประเทศไทยแล้ว กำหนดการดังกล่าวเป็นคล้ายโน้ตย่อสั้นๆ ที่เขียนว่า ARC (Aames Research Center) มายังประเทศไทย ถ้าจะดูตามเว็บไซต์ในเดือน ส.ค.จะเขียนว่า อู่ตะเภา ประเทศไทย ต้องดูรายละเอียดอย่าดูเฉพาะบางตอน ส่วนกำหนดระยะเวลาที่จะมาถึงประเทศไทยไม่ทราบ เพราะเป็นอุปกรณ์ และไม่ได้แจ้งว่าจะมาช่องทางไหน อาจจะเป็นท่าเรือคลองเตย หรือแหลมฉบัง

พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ปกติเครื่องบินทุกชนิดที่แจ้งมาจะบอกรายละเอียดว่าจะบินจากไหน ไปไหน มาทำอะไร ถ้าเราสงสัยก็ถามได้ ปกติจะไม่ล้ำเส้นในเรื่องเหล่านี้ เหมือนกับเราเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาต ส่วนการเตรียมพื้นที่รองรับอุปกรณ์ เราไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต้องรอรัฐบาลไฟเขียว เราจะไม่ทำอะไรเกินขอบเขต ส่วนจะมีการตรวจสอบยุทโธปกรณ์ที่จัดส่งมาหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นข้อตกลงกัน เพราะเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเป็นผลประโยชย์ของมนุษยชาติ ซึ่งหน่วยงานทางพลเรือนจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ว่าใช้ทางด้านนี้หรือไม่ หากรัฐบาลไฟเขียว ทางกองทัพไทยเตรียมตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้ากรมยุทธการทหาร กองทัพไทย เป็นประธาน โดยมีเจ้ากรมยุทธการของเหล่าทัพมาเป็นกรรมการ ตรวจสอบเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

“ในทางทหารเมื่อเห็นอุปกรณ์จะรู้ว่าชิ้นไหนเป็นอุปกรณ์ทางทหารหรือไม่ ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ผิดปกติก็ขอตรวจสอบได้ เขาจะอธิบายให้ฟัง อย่างกรณีเครื่องบินที่สงสัยกัน ถ้าเป็นเครื่องบินทางพลเรือนจะมีสีขาว เหมือนกับทางสภากาชาดไทย เพื่อเปิดเผยตัวเอง แต่เครื่องบินจารกรรมจะทาสีดำ สามารถสังเกตได้ สำหรับเครื่องบิน ER2 มีใช้ทั่วโลกประมาณ 20 รุ่นและมีการพัฒนาแตกแขนงมาก เพราะมีคุณสมบัติบินได้สูงก็เหมาะสมกับการตรวจสภาพอากาศ บินร่อนได้นาน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สนามบินอู่ตะเภาพอจะรองรับอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่ พล.ร.อ.ดำรงค์ศักดิ์กล่าวว่า สนามบินอู่ตะเภามีพื้นที่ใช้งานใหญ่ค่อนข้างกว้าง และเป็นสนามบินนานาชาติ รวมถึงเป็นสนามบินกองทัพเรือใช้ เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ของนาซาคือพลเรือนที่แปลสภาพมาจากทหารใช่หรือไม่ พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า เชื่อว่าสหรัฐฯแยกกันเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันอาจจะเป็นแค่นักบินที่มาจากกองทัพอากาศมาทำงานก็เป็นไปได้ เพราะนักบินถูกฝึกมาอย่างดีและมาต่อยอดเพื่อมาใช้งานทางพลเรือน ซึ่งต้องมาใช้เทคโนโยยีชั้นสูง ก็จะทำให้การทำงานเร็ว รวมถึงสภาพร่างกายก็พร้อม

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือก็ไม่ห่วงอะไร คิดว่าถ้ารัฐบาลตัดสินใจอะไรก็คงคิดอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ กองทัพเรือจะดูแค่เพียงผลกระทบจากการดำเนินของนาซาที่ส่งผลต่อการปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเรือและกองการบินทหารเรือ เราคงไม่ไปลำเส้นไปดูของเหล่าทัพอื่น ทั้งนี้ คิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ สิ่งที่น่ากลัวและเรากังวลอยู่ คือ ประเด็นที่คนอาจจะเข้าใจผิด และการเบี่ยงเบนประเด็นเป็นเรื่องอื่น ส่วนจะเบี่ยงเบนเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า เรื่องนี้กองทัพบกไม่ได้เพิกเฉย ทันทีที่ได้รับข้อมูล กองทัพบกได้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตที่รับผิดชอบทันที โดยกรณีการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐฯกับทางรัฐบาลไทยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยในระดับภูมิภาคและเพื่อภารกิจในการสำรวจภูมิอากาศ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมในภูมิภาคนี้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมประชุมด้วย ซึ่งในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบ ข้อควรระวังหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

“ในที่ประชุมเห็นตรงกัน 1. ให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินการทั้งสองภารกิจของสหรัฐฯ 2. คณะทำงานจะพิจารณาจัดทำร่างข้อตกลงร่วม ว่าต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง 3. ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนและนานาชาติรับทราบ เพื่อมิให้เกิดการหวาดระแวงซึ่งกันและกัน 4. ในการปฏิบัติการของสองภารกิจจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไทยร่วมทำงานด้วย เช่น นักบิน นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ โดยต้องให้คณะทำงานพิจารณาในรายละเอียดเพื่อทำข้อตกลงก่อนที่จะมีการอนุมัติผ่านตามกระบวนการตามขั้นตอน”
กำลังโหลดความคิดเห็น