xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กอ๊อด” ชงนาซาเข้า ครม. - กฤษฎีกาเช็กแล้วไม่เข้าข่าย ม.190 ไม่กระทบอธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ดันนาซาขอใช้อู่ตะเภาเข้าที่ประชุม ครม.เอง ไม่ห่วงถูกตีกลับ โยน “ปลอด” ตอบโต้ฝ่ายค้าน ยัน ทอ.พร้อมให้สอบเครื่องบิน สวนวอชิงตันโพสต์เขียนข่าวไม่มีข้อมูล ปัดมะกันสอดแนมจีน-พม่า ลั่นไม่ยอมให้ชาติเสียเปรียบ ด้านเลขาฯ กฤษฎีการะบุทูตมะกันส่งหนังสือแจงขอใช้สำรวจสภาพอากาศ 2 เดือน พร้อมตรวจแล้วไม่เข้า ม.190 ไม่กระทบอธิปไตย รก.ผอ.จิสดารับจำเป็นทางวิชาการแต่จะให้เป็นบวกหรือลบก็แล้วแต่พลเรือน


วันนี้่ (26 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุม ครม.วันนี้ตนจะนำวาระการประชุมเรื่ององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ขอเข้าใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อย่างแน่นอน ขณะที่ความกังวลว่า ครม.อาจจะตีกลับนั้นก็ไม่มีความเป็นห่วงอะไร ซึ่งก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของ ครม. ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านอาจจะมีกระแสตอบรับบางอย่างต่อเรื่องนี้อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเห็นว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมตอบคำถามต่างๆ อยู่แล้ว รวมทั้งทางกองทัพ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมก็ไม่มีอะไรขัดข้อง กองทัพเรือก็พร้อมที่จะดูแลความเรียบร้อย กองทัพอากาศก็พร้อมตรวจสอบเครื่องบินให้ด้วย

เมื่อถามว่า หนังสือพิมพ์วอชิงโพสต์ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่เห็นว่าเขาคงฟังข่าวที่ไม่มีข้อมูลและยังไม่ได้ทำอะไร แต่ในวันนี้ ครม.พิจารณาก็จะตกลงว่าจะเอาอย่างไร ออกทางไหน ก็จะเป็นข้อเท็จจริงมากกว่า รวมทั้งการที่วอชิงตันโพสต์ระบุว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาตั้งฐานทัพในสนามบินอู่ตะเภา เพื่อต้องสอดแนมจีนกับพม่าก็ยังไม่มีและยังไม่ทราบเรื่องนี้ เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าทางการไทยจะตกเป็นเบี้ยในกระดานการชิงอำนาจในสังคมโลก พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เราไม่ยอมอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือว่าอะไรที่ทำให้เราเสียเปรียบก็คงไม่ยอม ในรายละเอียดและข้อตกลงต่างๆ ขณะนี้ยังไม่มีแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด

ด้าน นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการตรวจสภาพอากาศ หลังจากได้รับหนังสือจากสถานทูตสหรัฐฯ ที่ส่งหนังสือให้กฤษฎีกาพิจารณาสาระสำคัญ พบว่าเป็นโครงการวิจัยเมฆและนำเครื่องบินเข้ามาวิจัยโดยใช้เวลา 2 เดือน นาซายอมมีข้อผูกพันในเส้นทางการบินที่ไทยกำหนด รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานของไทยและอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งกฤษฎีกาพิจารณาแล้วไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐสภา แต่หากว่า ครม.จะนำเรื่องนี้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาก็สุดแล้วแต่

อย่างไรก็ตาม นายอัชพรกล่าวว่า ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาพิจารณาเรื่องนี้ด้วยแล้ว ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าจะกระทบความมั่นคงนั้น รัฐบาลตัดสินใจให้กฤษฎีกาให้ความเห็นจากหนังสือของสถานทูตสหรัฐฯ ที่ส่งมาให้ จากการพิจารณาหนังสือที่เสนอมาพบว่าไม่กระทบอำนาจอธิปไตย ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสนอรัฐสภาให้พิจารณา ส่วนเรื่องความมั่นคงไม่อยู่ในเงื่อนไข เรื่องนี้ต้องให้กองทัพเป็นผู้พิจารณา

ขณะที่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (จิสดา) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ความจำเป็นมันเป็นเรื่องทางวิชาการ เพราะข้อมูลตอนนี้มันขาดและประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงประเทศไทยก็ยังไม่มีเครื่องมือที่มีศักยภาพที่ไปเก็บตัวอย่างในระดับสูงๆ ได้ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสที่นักวิชาการของเราจะได้ข้อมูล และจะได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการนานาชาติด้วย ความจริงแล้วเครื่องมือแบบนี้ไม่ใช่จะมีเฉพาะที่นาซาเท่านั้น แต่องค์การอวกาศของญี่ปุ่นของเยอรมันก็มีเครื่องมือแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่เขาทำในโซนอื่น ซึ่งแบบนี้ต้องแบ่งกันทำทั่วทั้งโลก แต่ในภูมิภาคนี้เนื่องจากนาซาได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มา 20 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เครื่องบินเข้ามา เมื่อก่อนเขาอาจจะให้เรายืมเครื่องมือ หรือเป็นการตรวจวัดจากภาคพื้นดินหรือใช้ดาวเทียมทั้งของเขาและของเรา ประสานกันในการเก็บตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เครื่องบินที่เข้ามาไม่ใช่เครื่องบินจารกรรม แต่เป็นเครื่องบินอากาศยาน แต่จะไปติดตั้งเครื่องมืออะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นเครื่องมือมันก็เหมือนกับของบางอย่างที่เราจะเอาไปใช้ทำอะไร จะเอาไปใช้ทางบวกทางลบทางทหารทางพลเรือนก็แล้วแต่ เพราะเครื่องบินไม่มีชีวิตจิตใจ มันอยู่ที่คนเราจะเอาไปใช้ทำอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น