“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” สั่งกองทัพเรือแจงข่าวสหรัฐฯ ขนอาวุธ เข้าอู่ตะเภา “ยุทธศักดิ์” เผยรอ “กองทัพ-บัวแก้ว-กระทรวงวิทย์” ทำข้อตกลงกับนาซาเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์และเครื่องมือที่จะนำมาใช้ก่อนหารือนำเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้หรือไม่ ยันกำชับกองทัพตรวจสอบอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อตกลง
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้ (25 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ซึ่งจะมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ น.ต.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่คงไม่มีการพิจารณากรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาจอดอากาศยาน และอุปกรณ์เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ
ส่วนที่สหรัฐอเมริกาขีดเส้นอยากได้คำตอบในการที่นาซาจะเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาในวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.)นั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า อยู่ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่าจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ส่วนข้อเป็นห่วงของหลายฝ่ายนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทางกองทัพเรือช่วยชี้แจงในรายละเอียดบ้าง ในฐานะที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุว่ามีการขนอาวุธเข้ามาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางเจ้ากรมยุทธการทหารเรือก็ได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีการเคลื่อนย้ายหรือขนอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรเข้ามาทั้งสิ้น ดังนั้นตอนนี้ทุกอย่างอยู่ที่มติที่ประชุม ครม.ในวันที่ 26 มิ.ย.ว่าจะมีมติอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลทราบหรือไม่ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ จะนำเข้ามาสำรวจเป็นประเภทไหน พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เราทราบหมด เขาแจ้งเราแล้วว่าเป็นเครื่องบินประเภทไหน ซึ่งต่อจากนี้กองทัพอากาศจะรับช่วงต่อในการดูแลเครื่องบินทุกลำที่เข้ามา รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในเครื่องบิน ทางกองทัพอากาศก็จะต้องรับทราบด้วยว่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรที่จะเอามาใช้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทางฝ่ายความมั่นคงจะต้องรับทราบ
“เมื่อวานผมได้พูดกับทาง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส.ไปแล้วว่าต้องประสานไปที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศ โดยเฉพาะกองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่จะต้องดูแลว่ามันมีอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรบ้างที่เขานำมาใช้ในการสำรวจที่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนกองทัพอากาศจะต้องดูเครื่องบินทุกลำที่จะต้องนำมาใช้ในงานนี้ตามข้อตกลงที่ทำในรายละเอียดไว้ ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวิทยาศาสตร์กำลังไปทำข้อตกลงกันอยู่และจะต้องเสนอต่อครม.ด้วย” พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รองนายกฯ กล่าวว่า อำนาจทั้งหมดที่นำเข้าเป็นอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ แต่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะใช้ประโยชน์จากกรณีที่นาซ่าเข้ามาทำงานในครั้งนี้ด้วย
ต่อข้อถามว่าสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจชั้นบรรยากาศแต่มันจะต่อยอดไปในเรื่องของยุทธการทางทหารได้หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เรามีข้อตกลงก่อนที่เขาจะเข้ามาทำงานเกี่ยวกับรายละเอียดทั้งหมดแล้วว่า จะทำได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งทางกองทัพจะต้องดูในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนายกฯ กำชับแล้วว่ากองทัพต้องดูแลเรื่องการดำเนินการตามข้อตกลงทุกอย่างไม่ให้มีอะไรแอบแฝงหรือเกินไปกว่าที่ตกลงกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางสำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่าการที่สหรัฐฯ มาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาครั้งนี้ไม่ใช่แค่สำรวจชั้นบรรยากาศ แต่จะมีการตั้งฐานทัพด้วย รองนายกฯ กล่าวว่า ทางสำนักข่าวนี้เขาคงไม่ทราบว่าตอนนี้นายกฯได้สั่งทางกองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ไปทำข้อตกลงในการกำหนดการใช้สนามบินกับการสำรวจว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งเขาขอใช้เพียง 2 เดือนก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ส่วนมีการแจ้งเข้ามาหรือไม่ว่าจะใช้อากาศยานกี่ลำ และมีเครื่องประเภทไหน พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เขาแจ้งมาว่าจะเข้ามา 3 ลำ และเราจะร่วมกับเขาอีก 1 ลำ รวมเป็น 4 ลำ ในการสำรวจครั้งนี้ และทุกครั้งเราจะต้องรับทราบด้วยว่าในเครื่องบินของเขามีเครื่องมืออะไรบ้างในการสำรวจ
พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ประโยชน์ที่เราจะได้รับเป็นอย่างไรบ้างนั้นต้องถามกระทรวงวิทยาศาสตร์ทั้งเรื่องชั้นบรรยากาศ เรื่องของเมฆ เรื่องฝุ่นละอองที่อยู่ตามชั้นบรรยากาศ หรือความเร็วของลม เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดอากาศต่างๆ ในแทบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
ส่วนการประเมินความคุ้มค่าว่าเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้วเราจะรับแรงเสียดทานจากจีนได้นั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ความจริงทางจีนก็ไม่ได้พูดอะไรมาก เพียงแต่เขาคงจะเฝ้าดูว่าจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคอย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเรื่องทางนาซาทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็นรองนายกฯดูแลความมั่นคงมั่นใจใช่ไหมว่าจะไม่กระทบทางด้านความมั่นคงของไทย รองนายกฯ กล่าวว่า เราต้องเข้มงวดต่อกฎหรือข้อตกลงต่างๆ ที่เราสัญญากันไว้ ซึ่งมันก็อยู่ที่เราด้วย อย่างไรก็ตามวันนี้ที่ประชุมจะหารือกันว่าจะสามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ ครม.จะพิจารณาอย่างไร ถ้าพิจารณาไม่ให้ทางกระทรวงต่างประเทศก็ต้องชี้แจงว่าอาจจะต้องเลยไปอีกหน่อย เมื่อถามว่า ทำไมสหรัฐฯ ต้องมาขีดเส้นตายโยตั้งเงื่อนไขกับไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงต่างประเทศประสานกับสหรัฐฯ