รมว.ต่างประเทศ เชิญทูตสหรัฐฯ หารือกรณีขอใช้อู่ตะเภาสำรวจเมฆ ก่อนแถลงข่าว เผยเตรียมนำเข้า ครม.พรุ่งนี้ ส่อเลื่อนนำเข้าสภาตาม ม.190 วรรค 2 อ้างจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซัดใครทำเสียประโยชน์จะได้รู้ เหน็บถ้านาซาสำรวจไม่ทันแล้วได้วีซ่าแม้ว คนพูดก็จบ โวยคนเขียน ม.190 ทำบริหารประเทศลำบาก ถ้าล่าช้าต้องแก้ไข ด้าน “คริสตี้” แจงโครงการนาซาคนละเรื่องกับศูนย์เอชเอดีอาร์ ส่วนเครื่องบิน 3 ลำ ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพสหรัฐฯ ลั่นเคารพการตัดสินใจของไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ให้สัมภาษณ์”
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาหารือในข้อราชการตามคำเชิญของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จากนั้นเวลา 14.00 น.นายสุรพงษ์ ได้แถลงข่าวถึงผลการหารือดังกล่าว ว่า สืบเนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่สับสนเกี่ยวกับการที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อดำเนินโครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAC4RS และเตรียมยกเลิกภารกิจหากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาจากรัฐบาลไทย ภายในวันที่ 26 มิ.ย.เนื่องจากไม่สามารถขนส่งอุปกรณ์การวิจัยเข้ามาได้ทันกำหนดการภารกิจในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
ส่วนกรณีที่ นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การที่นาซ่าขอใช้อู่ตะเภาเข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่นำเข้าสภาพึงสังวรว่ากำลังขายชาติ และที่ ส.ว.บางคนออกมาให้ข่าวว่า สหรัฐฯ อาจใช้ดาวเทียมเพื่อสำรวจพื้นที่ต่างๆ ขณะที่นาซาดำเนินภารกิจ ซึ่งไม่ใช่ และข่าวลือที่ว่า มีการขนส่งอุปกรณ์เข้ามาแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ตนได้ตรวจสอบทางกองทัพเรือแล้ว พบว่า ยังไม่มีการขนอุปกรณ์เข้ามา ดังนั้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของสังคม และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐฯ จึงได้เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย มาพูดคุยทำความเข้าใจ ทั้งนี้ การประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) ครม.จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่ง นางเคนนีย์ ก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และเห็นพ้องกันว่า การรายงานของสื่อหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ ยังมีความคลาดเคลื่อน คือ นำสองเรื่องมาปะปนกัน ได้แก่ โครงการ SEAC4RS ของนาซา ที่ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และโครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ เอชเอดีอาร์ ที่ต้องมีการใช้สนามบินอู่ตะเภา
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทย จำเป็นต้องทำตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากทาง ครม.มีมติอย่างไร จะรีบแจ้งให้ทางการสหรัฐฯ ทราบทันที ตนเป็นห่วงเรื่องความสัมพันธ์ เพราะมีบางกลุ่มพยายามจะหยิบยกให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และหากสมมติว่า ผลสรุปของ ครม.ออกมาว่า เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องเข้ารัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 2 ก็จะเป็นโอกาสดีที่จะได้วิพากษ์วิจารณ์ร่วมกัน และชี้แจงให้ประชาชนทราบ ส่วนเส้นตายวันที่ 26 มิ.ย.ของนาซา ตนได้หยิบยกหารือกับนางเคนนีย์ ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มองว่า ไม่น่าจะเจาะจงขนาดนั้น แต่อาจหมายถึงราวๆ ปลายเดือน แต่หากไม่ทันจริงๆ คิดว่า ก็อาจกลับมาทำในปีหน้าก็ได้ แต่อาจทำให้ข้อมูลการพยากรณ์น้ำท่วมบางส่วนในปีนี้ขาดหายไป ก็ช่วยไม่ได้
รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะพิจารณาไม่ทันตามกำหนดของนาซา เพราะหาก ครม.มีมติให้นำเรื่องเข้ารัฐสภา อย่างเร็วที่สุดในการเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญ ก็อย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด และเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ว่า การเล่นการเมืองนั้น เล่นในทางที่สร้างสรรค์ หรือทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ประชาชนจะได้รับรู้ ในเมื่อเป็นขั้นตอนก็ต้องทำให้ถูกต้อง และหวังว่า การชี้แจงในครั้งนี้ ว่า ใครที่เล่นการเมือง กับใครที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติ และใครควรรับผิดชอบ หากรัฐบาลไม่นำเรื่องเข้ารัฐสภา และมีผู้ไปฟ้องร้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวก็จะต้องถูกพักไว้ชั่วคราวอยู่ดี และหากมีการเล่นการเมืองเข้าข้างกันอย่างในอดีต ก็จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งมีโอกาสสูง ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยใช่เหตุ แต่ไม่แน่ว่าหากเข้าสภาแล้วรัฐบาลตัดสินใจก็อาจจะโดนอีก
“น่าจะเข้าสภา เพราะมีหลายฝ่ายพยายามจะไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ในที่สุดก็โดนยับยั้ง ไหนๆ จะช้าอยู่แล้ว ผมว่าเข้าสภาดีกว่า สังคมจะได้เข้าใจ เป็นบทเรียนที่ให้สังคมไทยต้องได้รับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นักการเมืองเล่นการเมืองต้องแยกแยะให้ออก ว่า อันไหนเป็นผลประโยชน์ของชาติ หรือของใคร บางคนบอกว่า ผมนำเรื่องนี้ไปแลกกับวีซ่าของท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน) หากเรื่องของนาซาไม่ทันแล้วพับไป แล้วท่านทักษิณได้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ คนที่พูดแบบนี้ก็จบ ไม่ต้องมากล่าวหากันอีก ถามว่า เสียดายโครงการนาซาไหม โดยส่วนตัวผมเสียดาย” นายสุรพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะทำให้ไทยเสียภาพลักษณ์หรือไม่ นายสุรพงษ์ ระบุว่า ไม่เสีย เพราะทำตามรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายเข้าใจ ในเมื่อเขียนไว้อย่างนี้ มาตรา 190 ถามว่าดีหรือไม่ คนที่เขียนขึ้นมา ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินบางเรื่องเป็นไปได้ยากลำบากมาก เมื่อถามถึงผลกระทบต่อเอชเอดีอาร์ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วริเริ่มให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแก่ประเทศในภูมิภาค โดยเมื่อเริ่มมีการเห็นพ้องต้องกัน ก็ได้สหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ถูกมองว่าอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ มากเกินไป นำไปสู่การตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย จึงมีการเสนอว่า ควรนำประเทศอื่นร่วมด้วย อาทิ จีน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของทหาร และยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ดี หากมีการเดินหน้าเรื่องเอชเอดีอาร์ ก็ควรนำเข้าสภาเพื่อให้จบสิ้นขบวนความ แต่ถ้ามาตรา 190 ทำให้ล่าช้า ก็ต้องมีการแก้ไขและเหลือไว้บางเรื่องที่สำคัญ
ด้าน นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้รับเชิญจาก รมว.ต่างประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากทางการไทย เกี่ยวกับความร่วมมือต่างๆ อาทิ การเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของนายสุรพงษ์ การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะนำคณะนักธุรกิจมาร่วมประชุม ส่วนโครงการ SEAC4RS ที่เป็นโครงการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ขออธิบายว่า เป็นคนละโครงการกับแนวคิดการจัดตั้งศูนย์เอชเอดีอาร์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ โดยทางการสหรัฐฯเคารพในการตัดสินใจของทางการไทย ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด และความร่วมมือด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ กับไทยจะยังคงดำเนินต่อไป
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า นาซาเป็นองค์กรทางด้านพลเรือน ที่ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ โดยเครื่องบินและอุปกรณ์ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับใดๆ กับกองทัพสหรัฐฯ รวมทั้งข้อมูลที่ได้มาจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย เพื่อช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจมากขึ้นต่อรูปแบบของมรสุมที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ทั้งนี้ นางเคนนีย์ ย้ำถึงข้อกังวลต่อศักยภาพการหลบหลีกเรดาร์ของเครื่องบินของนาซา ว่า เครื่องบินทั้ง 3 ลำ เป็นเครื่องบินทางด้านพลเรือน ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ ถูกออกแบบพิเศษเพื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จะมีนักวิจัยจากทั้งสหรัฐฯ และไทย เข้าร่วม