xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับการขจัดปัญหา “ภัยแทรกซ้อน”/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

ภัยแทรกซ้อนที่เป็นตัวช่วยให้สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำรงอยู่ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรก คือภัยจากขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นขบวนการที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชนิดที่ 2 คือ ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นขบวนการที่มีนักการเมืองทุกระดับมีส่วนร่วม และมีเจ้าหน้าที่ร่วมวงรับผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ขบวนการนี้ นอกจากจะเกี่ยวข้องโดยการสนับสนุนทางการเงินกับ “แนวร่วม” เพื่อก่อการร้ายแล้ว ยังเป็นขบวนการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษีน้ำมันประมาณเดือนละ 300 ล้านบาท (เฉพาะการลักลอบใน จ.นราธิวาสเพียงแห่งเดียว) และในทางอ้อมเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค เพราะมีการนำสารต่างๆ มาเป็นส่วนผสมในน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น

ดังนั้น การขจัดขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนจึงเป็นหนึ่งในภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่ง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งได้มีการจัดกำลังจาก ฉก.ชุดต่างๆ ปฏิบัติการ กวาดล้าง จับกุม ตรวจค้น ในพื้นที่แนวชายแดนและโกดังน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ต่างๆ มาตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่า สามารถจับกุมได้ของกลางกว่า 50,000 ลิตร ได้ของกลางทั้งรถยนต์ และเรือประมงดัดแปลง มูลค่ากว่า 15 ล้าน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่สามารถได้หลักฐานเส้นทางการสนับสนุนทางการเงินระหว่างขบวนการผู้ค้าน้ำมันเถื่อน กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชัดเจน ว่ามีการเชื่อมโยงทางการเงินเพื่อใช้ในการก่อเหตุร้าย และเหตุร้ายครั้งใหญ่ๆ ที่เป็น “คาร์บอมบ์” หลายครั้งใน จ.ยะลา และนราธิวาส เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติการจับกุมขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน

โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เปิดเผยว่า ชายแดน อ.สุไหงโก-ลก และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คือเส้นทางลำเลียงน้ำมันเถื่อนทั้งทางบก และทางทะเลที่สำคัญ เนื่องจากมีท่าข้ามกว่า 12 แห่ง มีผู้ที่อยู่ในขบวนการที่เป็นทั้งผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลร่วมอยู่ในขบวนการ ที่ผ่านมา จากการเข้าจับกุม ยึดได้อาวุธปืนสงคราม กล้องอินฟราเรดที่ใช้ตรวจการณ์ในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อติดสินบนมาโดยตลอด

และที่สำคัญ จากการเข้าตรวจค้นจับกุมโกดังน้ำมันเถื่อนของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ใน จ.นราธิวาส พบว่าเกี่ยวข้องกับ นายอาหามะ ยูโซ๊ะ ซึ่งเป็น “แนวร่วม” การก่อการร้าย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ และจากการตรวจค้น จับกุม 14 แห่ง ในพื้นที่ จ.ยะลา ที่เป็นเครือข่ายของนาย ม. ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลผู้หนึ่งพบบัญชีการส่งเงินให้โรงเรียนตาดีกาแห่งหนึ่ง ใน ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ครั้งละ 400,000-600,000 บาทต่อครั้ง

และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเครือข่ายของโรงเรียนดังกล่าว พบโครงสร้างอำนาจรัฐทับซ้อน มีนายกอเดร์ อาลีมามะ เป็นแกนนำฝ่ายเศรษฐกิจ และมีนายอาหมัด ตืองะ แกนนำฝ่ายทหารเขตงานยะลา และเมื่อตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่ยึดได้จากโกดังน้ำมันเถื่อนของนายสุไหงมิง อาลีมามะ พบว่าเชื่อมโยงกับนายอาบัส สือแต ซึ่งเป็น “แนวร่วม” ปล้นปืนของกองร้อย ร้อย ร.15121

จากการเข้าตรวจค้นโกดังที่เก็บน้ำมันเถื่อนยังพบว่า แต่ละโกดังมีการนำเอาสารเคมีต่างๆ มาผสมในน้ำมันเพื่อปลอมปนในน้ำมันดีเซล และเบนซินก่อนที่จะส่งขายให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ที่ใช้น้ำมันเถื่อน เช่น เครื่องยนต์เสียหาย และสิ่งที่พบจากการนำเครื่องบินลาดตระเวนในน่านน้ำแนวชายฝั่งพบว่าท้องทะเลชายฝั่งจังหวัดนราธิวาสได้รับความเสียหายจากน้ำมันเถื่อน โดยเรือประมงดัดแปลงที่ใช้ในการบรรทุกน้ำมันเถื่อนทิ้งน้ำมันลงทะเลเป็นจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม ทำให้ท้องทะเลเต็มไปด้วยคราบน้ำมันเถื่อนเป็นการก่อมลภพิษที่ร้ายแรง ที่สร้างความเสียหายให้แก่ท้องทะเลอย่างย่อยยับ

แต่ พล.ท.อุดมชัย ก็ยอมรับว่า การปราบปรามน้ำมันเถื่อนซึ่งทำกันเป็นขบวนการไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะทุกครั้งที่มีการตรวจค้นจับกุม ผู้ค้ารายใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการตอบโต้จาก “แนวร่วม” ด้วยการก่อวินาศกรรมโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ และนอกจากนั้น ยังมีปัญหามวลชนที่ไม่เข้าใจในเรื่องภัยแทรกซ้อนที่เกิดจากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน
 
ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงมุ่งจับกุมเฉพาะรายใหญ่ๆ ทำให้ประชาชนเห็นว่าการจับกุมของ กอ.รมน. ล้มเหลว เพราะเห็นทุกพื้นที่เต็มไปด้วยการจำหน่ายน้ำมันเถื่อนที่แบบบรรจุขวด บรรจุแกลลอน และปั๊มหลอดเป็นจำนวนมาก เหตุผลที่เจ้าหน้าที่ยังไม่จับกุมการจำหน่ายน้ำมันเถื่อนในชุมชนต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นการค้าของชาวบ้านจึงเน้นในการจับกุมรายใหญ่ โดยเชื่อว่าถ้าจับกุมรายใหญ่ได้จะทำให้จำนวนน้ำมันที่ส่งขายแก่ผู้ค้ารายย่อยหมดลงไปด้วย

กอ.รมน.ภาค 4 ได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมศุลกากร กองทัพเรือ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปราบปรามน้ำมันเถื่อน โดยจะเน้นหนักในการค้าน้ำมันเถื่อนทางทะเลซึ่งมีจำนวนมากกว่าน้ำมันเถื่อนทางบก ซึ่งน้ำมันเถื่อนทางทะเลมีการลักลอบน้ำเข้าหลายล้านลิตรต่อวัน ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือว่าการปราบปรามขบวนการน้ำมันเถื่อนเป็นภารกิจหนึ่งที่เป็นภัยแทรกซ้อนที่จะต้องปราบปรามให้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเฉพาะการนำเข้าทางทะเล และทางบกเท่านั้น แต่ยังมีการใช้กลโกงนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ใช้รถเทรลเลอร์ ขนาด 42,000 ลิตร นำน้ำมันจากประเทศมาเลเซีย โดยวิธีการ “ผ่านทาง” ไปยังประเทศพม่า แต่โดยข้อเท็จจริงน้ำมันเหล่านั้นไม่ได้นำเข้าประเทศพม่า แต่นำน้ำมันไปจำหน่ายในประเทศไทยแถบจังหวัดภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยส่งเพียงเอกสารผ่านแดน เพื่อแสดงว่ามีการส่งน้ำมันไปยังประเทศพม่าแล้ว รวมทั้งมีการ “สำแดงเท็จ” กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรชายแดน จ.สงขลา น้ำเข้าน้ำมันดีเซลจากประเทศมาเลเซียเข้ามาโดย “สำแดงเท็จ” ว่าเป็นน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพเพื่อเสียภาษีในราคาถูก ซึ่งเป็นกลโกงระหว่างบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยไหนกล้าที่จะปฏิบัติการตรวจสอบเพื่อจับกุม

และจากข้อมูลของสำนักงาน ปปง. ที่ระบุว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเงินที่ตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้หมุนเวียนอยู่มากถึง 61,000 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องจากเหตุความไม่สงบ โดยเชื่อว่าเงินจำนวน 61,000 ล้าน เป็นเงินที่ใช้ในการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และธุรกิจนอกกฎหมายอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ปปง.เอง ยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบเพื่อจับกุมยึดทรัพย์ในข้อหาการฟอกเงินได้ เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายที่เป็นกฎกระทรวงมารองรับการทำหน้าที่ของ ปปง.

และทั้งหมดที่กล่าว คือ ภัยแทรกซ้อน ที่หากไม่มีการดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและจริงจัง การที่จะทำให้สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติลงในเร็ววันคงจะเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็น “นายทุน” หรือ “ข้าราชการ” ส่วนหนึ่งต่างยึดถือ “วิกฤต” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “โอกาส” ในการแสวงหาความร่ำรวย โดยไม่มีใครสนใจถึง “หายนะ” ของประเทศแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ยังคงใช้วิธี “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น