xs
xsm
sm
md
lg

บสย.กำหนดกลยุทธ์ตลาดเชิงรุก เป้า 5 ปีค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 3 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้ช่วยผู้อำนวยฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.
สุราษฎร์ธานี - บสย.จี้กำหนดแผนใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ตั้งเป้า 5 ปี 2555-2559 ยอดค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 55 กำหนดวงเงินค้ำประกัน 5 หมื่นล้านบ. เชื่อบรรลุเป้าหมาย

นายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เปิดเผยว่า ในระหว่างการสัมมนา Business Talk และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บสย. ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี ว่า เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.ในปี 2555 นี้มีจำนวน 50,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บสย.ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 8,000 ราย วงเงินค้ำประกัน 26,000 ล้านบาท เป็นเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 900 ราย วงเงินค้ำประกัน 2,500 ล้านบาท คิดเป็น 9.6% ของวงเงินค้ำประกันทั่วประเทศ

ขณะที่ประเภทธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีการอนุมัติค้ำประกัน ได้แก่ ธุรกิจการบริการ ค้าปลีก ค้าส่ง ปั๊มน้ำมัน ท่องเที่ยว ลอจิสติกส์ และธุรกิจการเกษตร ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และธุรกิจยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ บสย.ได้จัดคลินิกให้คำปรึกษาทางการเงินแก่เอสเอ็มอีขึ้นทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้ำประกันในปี 2555 จำนวน 50,000 ล้านบาท

สำหรับด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2555 กระแสการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ ที่คงความเข้มแข็งต่อเนื่องผลักดันให้ธนาคารใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการดึงลูกค้าเอสเอ็มอี การใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และเป็นเป้าหมายที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งประกาศว่า จะรุกตลาดเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาก็อาจออกมาในรูปแคมเปญสินเชื่อ 3 เท่า หรือ 5 เท่า โดยใช้โครงการ PGS ของ บสย.เป็นตัวช่วยในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ พร้อมกำหนดดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อดึงลูกค้า Refinance จากธนาคารคู่แข่งเอสเอ็มอี ในพื้นที่ภาคใต้มีโอกาสเลือกผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงใจ ในราคาที่เลือก และต่อรองได้มากขึ้น

ทั้งนี้ บสย.มีกำหนดการลงนามข้อตกลง (MOU) ในการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ PGS ระยะที่ 4 (G12) จำนวน 24,000 ล้านบาท และโครงการ PGS New start-up (S 12) จำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ คาดว่าในโครงการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เป็นไปตามเป้าหมาย และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

ปัจจุบัน ยอดการค้ำประกันโดยรวม บสย.ให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ เอสเอ็มอี แล้วจำนวน 64,000 ราย วงเงินค้ำประกัน 186,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น เอสเอ็มอี ในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 9,300 ราย วงเงินค้ำประกัน 24,000 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของวงเงินค้ำประกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ บสย.มีเป้าหมายใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก (Full Market Coverage Strategy) โดยกำหนดแบบระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) มีเป้าหมายยอดค้ำประกันสินเชื่อคงค้างรวม 300,000 ล้านบาท จากยอดค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ในปี 2551 บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ 3,253 ล้านบาท ปี 2552 วงเงินค้ำประกัน 21,558 ล้านบาท ปี 2553 วงเงินค้ำประกัน 42,585 ล้านบาท และปี 2554 วงเงินค้ำประกัน 52,446 ล้านบาท ตามลำดับ ถือเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 16 เท่า ของการค้ำประกันเมื่อเทียบระหว่าง ปี 2551 กับปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น