xs
xsm
sm
md
lg

เมืองคอนประท้วงซ้ำ ขนยางกว่า 300 ตันปิดตลาดกลางฉะ “ปูนิ่ม” 2 มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - เกษตรกรชาวสวนยางนครศรีธรรมราชขนยางพารากว่า 300 ตันปิดตลาดกลางยางพารางดประมูลซื้อขาย อัดงบ 1.5 หมื่นล้าน 2 มาตรฐานรักษาเสถียรภาพราคายาง ยื่น 4 ข้อเสนอให้ อสย.เร่งสร้างความเท่าเทียม เผยพร้อมเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ผอ.ตลาดกลางบอกทำให้ยางพาราในตลาดหายไปกว่า 200 ตัน กลไกตลาดชะงัก

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เกตรกรชาวสวนยางพารากว่า 100 รายไ ด้ใช้รถยนต์กระบะบรรทุกยางพาราเต็มคันรถ แต่ละคันมีน้ำหนักกว่า 3 ตัน รวมกว่า 100 คัน น้ำหนักกว่า 300 ตันโดยมีประเภทยางพาราแผ่นดิบ และยางพาราแผ่นรมควันเข้ามาจอดในตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เพื่อแสดงพลัง และปิดการประมูลซื้อขายยางพาราประจำวันในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งส่งผลให้ยางพาราอย่างน้อย 300 ตัน ที่จะออกสู่ตลาดในวันนี้ชะงักและหายไปจากระบบการซื้อขายยางพาราประจำวันทันที

เบื้องต้น หลังจากที่เกษตรกรได้นำรถบรรทุกยางเข้าจอดในบริเวณรวบรวมยางพารา นายสุวิทย์ รัตนพงศ์ ผอ.ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ได้เชิญแกนนำประกอบด้วย นายเทียนชัย อินทศิลา อายุ 45 ปี แกนนำเกษตรกรจาก ต.บางรูป อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช นายสุชาติ รอดดำ อายุ 53 ปีอดีตผู้แทนเกษตรกรและคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร และอีกหลายฝ่ายร่วมประชุมหารือ จนได้ข้อสรุปเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 4 ประเด็นหลัก

นายเทียนชัย อินทศิลา แกนนำเกษตรกรเปิดเผยว่า เกษตรกรทั้งหมดได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอจำนวน 4 ข้อคือ 1.ขอให้ อสย.เข้ามาประมูลที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชด้วย ทั้งยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน และจะต้องประมูลทุกครั้งที่ อสย.มีการเปิดรับซื้อ 2.ราคาที่ อสย.เข้ามาประมูลที่ตลาดกลางเป็นราคาเดียวกับที่รับซื้อที่ อสย. 3.การเข้ามาประมูลของ อสย.ไม่มีการเลือกปฏิบัติ (ไม่มีการเลือกว่าจะเป็นเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร) 4.ให้ถือว่าผู้ขายยางในตลาดกลางเป็นสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ

"ทั้งนี้ เห็นว่าการปฏิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็น 2 มาตรฐาน เนื่องจากการซื้อขายโดยปกตินั้น ราคายางแผ่นรมควัน กก.ละ 107 บาท ราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 100 บาท แต่หาก อสย.ใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านในโครงการจะซื้อสูงกว่านี้ประมาณ 5-10 บาท เกษตรกรที่นำมาขายในตลาดกลางไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย ต้องทำเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และยืนยันว่า หากไม่ดำเนินการต่อไปเช่นนี้ เกษตรกรจะมีมาตรการที่กดดันเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับ” นายเทียนชัยกล่าว

ขณะที่นายสุวิทย์ รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าภาพรวมนั้นเกษตรกรต้องการประเด็นเดียวคือ ให้มีความเท่าเทียมกันในเรื่องของราคายางจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางเท่านั้น ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดกลางยางพาราในวันนี้ จะไม่มีมีการประมูลซื้อขายยางพาราทำให้ยางพาราอย่างน้อย 200-300 ตันหายไปจากตลาด จะส่งผลกระทบกับกลไกตลาดในระดับหนึ่ง และหากยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น ผอ.ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น