“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” เปิดประชุม ESCAP ย้ำไทยพร้อมสนับสนุนการทำงาน
สหประชาชาติเต็มที่ มั่นใจความร่วมมือของประเทศสมาชิกนำไปสู่ความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจโลก
ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ วันนี้ (21 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมประจำปี ของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัย 68 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Regional Economic Integration in Asia and the Pacific” โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีในนามของรัฐบาลไทย และต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนสู่ประเทศไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวยืนยันถึงการสนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง ESCAP ภายใต้การกำกับของผู้อำนวยการ โนเอลีน เฮย์เซอร์ ได้ทุ่มเทการทำงานด้านพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจในระดับโลก ประเทศไทยภาคภูมิใจในการเป็นผู้ร่วมมือกับ ESCAP อย่างใกล้ชิด อาทิ เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนากองทุนเพื่อจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ ESCAP ยังร่วมมือกับอาเซียนเพื่อสนับสนุนการสร้างแผนแม่แบบอาเซียน (ASEAN Master Plan) ด้านการเชื่อมโยงอาเซียน โดยเฉพาะการสร้างทางหลวงเอเชีย (ASEAN Highway) และทางรถไฟสายเอเชีย (Trans-Asian Railway) นับตั้งแต่การริเริ่มโครงการ
นายกรัฐมนตรียังเห็นด้วยกับหัวข้อการจัดประชุมในครั้งนี้ ภายใต้ชื่อ “Enhancing regional economic integration in Asia and the Pacific: Towards a comprehensive Framework” ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน ในการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับอาเซียน และระดับอนุภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการร่วมมือกันให้มีมากยิ่งขึ้น
ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือก่อให้เกิดผลดีต่างๆ อาทิ อาเซียนได้มีการพัฒนาระบบตลาดเดียว (Single Marget) ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน ซึ่งมีทั้งแหล่งเงินทุนเสรี แรงงานที่มีฝีมือ และการสนับสนุนการรวมตัวกัน ที่ช่วยเพิ่มการค้าการลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค นอกจากนี้ ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการเงินยังช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือจากความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้ดีขึ้น
ทางด้านสังคม การรวมตัวกันในภูมิภาคช่วยให้รัฐต่างๆ สามารถมองเห็นประเด็นทางสังคมที่สำคัญได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของสตรีและเยาวชน การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ การค้ามนุษย์และการลักลอบค้ายาเสพติด และนี่คือสาเหตุให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี รวมถึงการริเริ่มให้มี “แถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยเขตการปลอดยาเสพติด ภายในปี 2015” อันแสดงถึงความพยายามอีกขั้นหนึ่งของ
อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์
นอกจากนี้ การรวมตัวกันในภูมิภาคยังส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนภายใน
อาเซียน และความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในภูมิภาคอีกด้วย นอกเหนือจากความร่วมมือในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลาย อาทิ BIMSTEC APEC หรือ ECO นับว่ามีความสำคัญต่อการสร้างดุลยภาพสำหรับการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก การเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และการประสานพลังความร่วมมือได้ช่วยสร้างการรวมตัวกันที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เข้มแข็งในกรอบอนุภูมิภาคได้ช่วยให้ประเทศสมาชิกต่างมั่นใจที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ESCAP สามารถเป็นเวทีที่สำคัญในการแบ่งปันประสบการณ์ในการรวมตัวกันในภูมิภาค ผ่านการศึกษาข้อมูลและสนับสนุนความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่าง
อนุภูมิภาคต่างๆ แม้ว่าการรวมตัวกันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากความหลากหลายทางเศรษฐกิจสังคมและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม นายกฯ มั่นใจว่าประเทศสมาชิกจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาตามความสนใจของส่วนรวม และหวังว่ากระบวนการรวมตัวกันจะนำไปสู่ความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจโลก สนับสนุนความริเริ่มของภาคเอกชน และความก้าวหน้าทางความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณและซาบซึ้งต่อการทำหน้าที่อย่างหนักของ
ผู้อำนวยการโนเอลีน เฮย์เซอร์ เพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะทำงานร่วมกันในประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของสตรีที่มีความสนใจร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าการประชุมประจำปีของ ESCAP ครั้งที่ 68 ในวันนี้ จะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี