xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกกระแสเขตเศรษฐกิจเชียงราย-นัดเปิดเวทีใหญ่ 2 เมษาฯ ดัน 3 อำเภอชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เล็งปัดฝุ่นดันเขตเศรษฐกิจ 3 อำเภอชายแดน เชียงราย ใหม่ หลังดันกันมานาน แต่ยังไม่เกิด กมธ.การเงินฯ นัดเปิดเวทีระดมความคิดความเห็นครั้งใหญ่ 2 เมษาฯนี้ วางรูปแบบพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ-ท่องเที่ยว แทนเขตอุตสาหกรรม พร้อมค้านใช้ พ.ร.ก.ยุค “แม้ว” เข้าบริหาร หนุน พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11(8) แทนสกัดต่างชาติเข้าครอบครองที่ดิน

นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร จะจัดสัมมนาผลักดันโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 อำเภอชายแดนของเชียงราย ครั้งสำคัญ หลังพยายามผลักดันกันมานาน แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม

โดยเวทีสัมมนาที่จะจัดขึ้น ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย ครั้งนี้ จะเป็นการระดมความเห็นจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปประกอบพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป

นายบุญธรรม กล่าวว่า สำหรับตนซึ่งรับผิดชอบ อ.แม่สาย จะนำเสนอแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในลักษณะเขตการค้าระหว่างประเทศและชายแดน

ส่วน อ.เชียงแสน จะผลักดันให้เป็นเมืองท่าเรือ และเชียงของ ให้เป็นเขตพาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว รองรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จในปี 2556

“ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่เอาไว้ ไม่เปิดให้กลุ่มทุนต่างชาติรุกเข้าไปถือครองผลประโยชน์จนมากเกินไป”

นายบุญธรรม บอกอีกว่า เป้าหมายของเรา คือ การพัฒนาชายแดนคงเป็นไปในลักษณะการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่ตั้งเขตอุตสาหกรรม และควรส่งเสริมจุดแข็งของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือการท่องเที่ยว ด้วยการดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อยู่ที่ตอนใต้กว่า 200 ล้านคนลงมาเที่ยว และมุ่งสู่พม่าอีก 60 ล้านคน

โดยเฉพาะปัจจุบันมีถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-พม่า ที่สะดวก ทั้งยังเชื่อมต่อไปยังเดียนเบียนฟู เวียดนาม ได้อีกด้วย พม่า และ สปป.ลาว ก็กำลังร่วมมือกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง สิ่งเหล่านี้คือ เรื่องที่เขตเศรษฐกิจควรจะเข้าไปอำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ จ.เชียงราย

ด้าน นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ที่จริงแล้ว เชียงราย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการวางแผน ในการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรวมจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ซึ่งคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่เชียงใหม่ ก็มีมติให้ทางจังหวัดดำเนินการเสนอแผนงานนี้ ต่อคณะกรรมาธิการอย่างเร่งด่วน โดยดำเนินการตามแนวทางของแผนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อครั้นมีมติคณะรัฐมนตรีอออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2545 และแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

ทั้งที่ 3 อำเภอของเชียงราย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับ GMS เพราะมีความได้เปรียบจากระบบคมนาคมขนส่ง เครือข่าย Logistic ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งยังมีด่านถาวรถึง 4 จุด และจุดผ่อนปรน 10 แห่ง

พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การค้ายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 6 เท่าในรอบ 10 ปี ล่าสุดปี 2554 มีมูลค่า 29,771.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.25% นอกจากนี้ ศักยภาพโดยรวมถือว่า เป็นเมืองหน้าด่านประตูเศรษฐกิจ (Gateway) ของประเทศไทย กับกลุ่ม GMS, AEC, BIMSTEC ซึ่งเป็นประตูของแนวระเบียง NSEC เส้นทางคุนมั่ง-กงลู่ ACFTA (ASEAN - China FTA) อีกด้วย
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย
ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแสดงถึงการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกเพื่อการค้าการลงทุนในเขตนั้นๆ ที่มีความเป็นพิเศษกว่าพื้นที่โดยทั่วไป โดยมีแนวโน้มว่าการประกาศเขตและการใช้กฎหมายจะแตกต่างจากการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในยุครัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ใช้กฎหมายประกาศครอบคลุมพื้นที่และให้ผู้ว่าการเขต เข้าไปบริหารงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยหันมาใช้พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11(8) ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการเข้าไปบริหารพื้นที่เศรษฐกิจได้ในบางพื้นที่

ซึ่งการใช้รูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบ พ.ร.ก.จะส่งผลกระทบต่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วย เพราะผู้ว่าการเขตมีอำนาจสูงสุด สามารถตัดป่า ถมลำธาร ขุดดิน ย้ายวัด ฯลฯ ได้หมด รวมทั้งเปิดเสรีให้กลุ่มทุนและแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในเขตได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นผลให้แรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานคนไทยได้อย่างถาวร และกลุ่มทุนใหญ่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนจะเข้ามายึดการลงทุนในพื้นที่จนหมด และเสี่ยงต่อการเกิดโรงงานอุตสาหกรรม หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มจะใช้มาตรา 11(8) ดังกล่าว

สำหรับการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ใหญ่ๆ ตามชายแดน เช่น กาญจนบุรี จะเชื่อมกับท่าเรือเมืองทวายของพม่า แต่ยังมีปัญหาเรื่องการสร้างพื้นที่ผ่านป่า และเขตทหาร ขณะที่ด้านเชียงราย มีความพร้อมในด้านพื้นที่มากกว่าโดยคณะกรรมาธิการ มีนายไชยา พรหมา เป็นประธานกรรมาธิการ และมี นางวิยดี สุตะวงศ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นชาว อ.เชียงแสน และสนิทกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนและผลักดันการจัดตั้งโครงการนี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น