xs
xsm
sm
md
lg

เรือจีนขึ้นราคาขนสินค้าผ่านน้ำโขง หลังน้ำแห้ง-ความปลอดภัยลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เรือขนสินค้าจีนในแม่น้ำโขง ดาหน้าขึ้นค่าระวางสินค้าจากราคาเริ่มต้น 200 หยวน/ตัน ปรับเพิ่มเป็น 250 หยวน/ตัน หลังน้ำโขงแห้ง ต้องลดระวางสินค้า แถมความเชื่อมมั่นเรื่องความปลอดภัยลด ตั้งแต่เกิดเหตุสังหารหมู่ลูกเรือจีนปลายปี 54 ขณะที่นักธุรกิจจีนยันกลางวงสัมมนา หากจีนสร้างเขื่อนยักษ์กั้นโขงเสร็จ คุมน้ำได้ 100% หมดปัญหาน้ำโขงแห้งแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย วันนี้ (9 มี.ค.) ว่า สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงถือว่าเหือดแห้งลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือซบเซาลงถนัดตา ซึ่งถือเป็นปกติของทุกฤดูแล้ง แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบเพิ่มจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยหลังเกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธบริเวณสามเหลี่ยมทองคำโจมตีและยิงเรือสินค้าจีน 2 ลำทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 13 ศพเมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 ที่ผ่านมา และยังเคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงตามมาอีกหลายครั้ง

ทำให้มีเรือสินค้าจีนที่แล่นมาจากจีนตอนใต้-เชียงแสน ระยะทาง 264 กิโลเมตร เข้าเทียบท่าเรือเชียงแสนน้อยมากโดยนานๆ ครั้งจะมีเรือแล่นเข้าออก แต่ก็มีระวางบรรทุกน้อยอย่างเห็นได้ชัด และมีเพียงเรือสินค้าเล็กสัญชาติ สปป.ลาว และเรือท่องเที่ยว ที่พอจะแล่นผ่านไปมาได้บ้างเท่านั้น

ซึ่งผิดกับการขนส่งสินค้าทางบกที่ท่าเรือ อ.เชียงของ ที่อยู่ห่างจากเชียงแสนประมาณ 58 กิโลเมตร ที่มีการใช้แพขนานยนต์และเชื่อมกับท่าเรือในฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ไปยังถนนอาร์สามเอไทย-แขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา-จีนตอนใต้ (ระยะทาง 254 กิโลเมตร) ที่คึกคักมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการหันไปใช้บริการขนส่งสินค้าบางชนิดที่จำเป็นเร่งด่วนแต่ก็ต้องเสียต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น

นายพรเลิศ พรหมปัญญา ผู้ประกอบการท่าเรือเหนือสยามรุ่งเรือง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินเรือในแม่น้ำโขงระหว่างไทย-สปป.ลาว ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ ไปจนถึงท่าเรือเชียงแสนในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน เป็นไปด้วยความยากลำบาก บางแห่งน้ำลึกไม่ถึง 1-1.50 เมตร และโดยเฉพาะบริเวณเกาะดอนซาว สปป.ลาว ตรงกันข้ามบ้านสบรวก ต.เวียง เหลือร่องน้ำเดินเรือแค่ร่องเดียว ให้เรือทั้งขาขึ้นและล่องใช้ในการเดินเรือ

ขณะที่เรือสินค้าไม่มีการแล่นเรือในช่วงนี้ เพราะปริมาณน้ำเหือดแห้ง ส่งผลต่อเนื่องทำให้ไม่มีใบพัดเรือขนาดใหญ่คอยตีทรายใต้น้ำให้กว้างขึ้น ทำให้เรือท่องเที่ยวก็ประสบความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน

ประกอบกับโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเมื่อหลายปีก่อน ได้ทำให้แก่งหินหักลงไม่โผล่เหนือน้ำให้เห็น เมื่อเรือเข้าไปแล่นก็ทำให้ไม่เห็นก้อนหินด้านบนแต่ใบพัดเรือไปถูกใส่หินที่ถูกระเบิดหักใต้น้ำทำให้เสี่ยงต่อความเสียหายด้วย

ด้าน นายประธาน อินทรียงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเซาท์ไชน่า ลอจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้วที่ในช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงจะเหือดแห้งลง และทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือทำได้ไม่สะดวกเหมือนเดิมจนเป็นผลทำให้ปริมาณสินค้าลดลงและค่ารับจ้างขนส่งสินค้าของคนเดินเรือจีนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณตันละ 50 หยวน

โดยตามปกติเรือสินค้าจะเก็บค่าบรรทุกสินค้าจากผู้ประกอบการค้าขายตันละ 200-250 หยวน แต่หากเป็นช่วงนี้ก็จะเก็บเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 250 หยวนขึ้นไป ขณะที่เรือสินค้าก็มีระวางบรรทุกน้อยลงจากเดิมเคยบรรทุกเที่ยวละ 200-300 ตัน เต็มพิกัดก็ลดเหลือไม่ถึง 100 ตัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกยหาดทรายที่ตื้นเขิน

“ก็ยังดีที่ช่วงฤดูแล้ง สินค้าจากจีนหมดฤดูเก็บเกี่ยวพอดี”

โดยเฉพาะผลไม้ที่มีในช่วงนี้ โดยจะเหลือเพียงประเภทพืชผักที่นำเข้ามาเหมือนเดิม ส่วนสินค้าไทยก็ไม่มีมากเช่นกันโดยสินค้าใหญ่ๆ ก็จะมียางพาราซึ่งจำเป็นต้องใช้การบรรทุกครั้งมากๆ จึงจะคุ้มค่า ช่วงนี้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยจึงถือโอกาสหยุดพักไปในตัว เพราะสินค้าขาล่องจากจีนก็น้อยอยู่แล้ว

แต่สำหรับสินค้าเร่งด่วนก็จะส่งออกและนำเข้าทางถนนอาร์สามเอที่ อ.เชียงของ แทน ส่วนสินค้าอื่นต้องรอถึงฤดูน้ำหลาก เพราะไม่กล้าเสี่ยงกับต้นทุนขนส่งทางบกที่สูงกว่า เพราะการค้าขายนั้นค่าขนส่งโลจิสติกส์กินต้นทุนเข้าไปกว่า 10-20% แล้ว

นายประธาน กล่าวอีกว่า ปัญหาอีกประการที่ทำให้การขนส่งทางแม่น้ำโขงไม่คึกคักเหมือนเดิมคือความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย หลังเกิดคดียิงลูกเรือสินค้าจีน 2 ลำ เสียชีวิต 13 ศพเมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 ที่ผ่านมา แม้จะมีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) คอยดูแล แต่กองกำลังของไทยก็ดูแลได้เฉพาะในน่านน้ำไทยเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ไทย จีน พม่า และ สปป.ลาว จะหารือร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการจัดเสวนาเรื่อง “เปิดประตูเศรษฐกิจ...ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนเชื่อมการค้า GMS” ณ โรงแรมสยาม ไทรแองเกิ้ล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งมีนายพินิจ หาญพาณิชย์รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ผู้บริหารส่วนราชการ องค์กรธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อรองรับการเปิดใช้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ซึ่งจะเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 เป็นต้นไป ณ ปากแม่น้ำกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน นั้น มีการหารือเกี่ยวกับระดับแม่น้ำโขงที่แห้งจนหลายฝ่ายเกรงว่าท่าเรือแห่งใหม่ที่รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 1,546.4 ล้านบาท ก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2552 บนเนื้อที่ประมาณ 387 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวาจะไม่สามารถใช้งานในฤดูแล้งได้ด้วย

โดย นายพงษ์วรรณ จารุเดชา รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวยืนยันว่า ก่อนการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ได้มีการศึกษาวิจัยในช่วงนั้นแล้วว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างท่าเรือแห่งที่ 1 ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน กับท่าเรือแห่งที่ 2 จะมีระดับความลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตร ณ วันที่ระดับน้ำต่ำสุด ซึ่งสามารถใช้เพื่อการขนส่งสินค้าทางเรือได้อย่างแน่นอน โดยท่าเรือแห่งใหม่จะมีระบบต่างๆ รองรับการขนส่งทางน้ำได้อย่างสมบูรณ์มากกว่าเดิมด้วย

ขณะที่ตัวแทนนักธุรกิจจีนที่เข้าร่วมในการเสวนาระบุว่า ในอนาคตเชื่อว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอีก หากว่าทางประเทศจีนได้ก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งใหม่คือเขื่อนเชี่ยววานแล้วเสร็จ เพราะเขื่อนแห่งนี้จะกักเก็บน้ำให้ได้มากพอที่จะควบคุมปริมาณน้ำ โดยจะทำให้น้ำขึ้นลงได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีปริมาณน้ำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เรือสินค้าขนาด 300 ตันจะสามารถแล่นขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ในฤดูแล้งจะมีเพียงเรือขนาด 50-100 ตันเท่านั้นที่แล่นในแม่น้ำโขงได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันการค้าชายแดนไทย-จีน-สปป.ลาว-พม่า ในแม่น้ำโขงผ่านศุลกากรเชียงแสนมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 11,000 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าประมาณ 1,000 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 9,000 ล้านบาท และสินค้าผ่านแดนประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งช่วงแม่น้ำโขงแห้งก็จะหันไปขนส่งสินค้าบางส่วนผ่านด่านศุลกากรเชียงของ ทำให้ในปีงบประมาณ 2554 มีมูลค่าการค้าที่เชียงของเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,199.5 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,268.3 ล้านบาท และส่งออก 5,931.1 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ถูกระบุว่า ไหลมาจากจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16-20% ของปริมาณน้ำของแม่น้ำโขงทั้งหมด โดยจีนมีการสร้างเขื่อนหลายแห่งได้แก่ เขื่อนมันวาน สูง 126 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกกะวัตต์ แล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1996

เขื่อนต้าเฉาชาน สูง 110 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 1,350 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้างตั้งแต่ปี 2003 เขื่อนจิ่งหง สูง 118 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.2009 ตั้งอยู่ในเขตสิบสองปันนาอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดประมาณ 345 กิโลเมตร และเขื่อนเชี่ยววาน สูง 300 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 4,200 เมกะวัตต์ ความจุอ่างน้ำกว่า 145,560 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มกักเก็บน้ำแล้วและจะใช้งาน ก.ย.ปี ค.ศ.2012 นี้

รวมทั้งยังมีเขื่อนกอนเกาเคียว สูง 105 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 750 เมกะวัตต์ ก่อสร้างแล้วเมื่อกลางปี 2552 โดยเป็นเขื่อนนี้ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดในบรรดาเขื่อนต่างๆ

นอกจากนี้ มีโครงการจะสร้างเขื่อนอื่นๆ อีก คือ เขื่อนเนาซาตู สูง 254 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ กำลังอยู่ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าจะสร้างปี ค.ศ.2017 เขื่อนกงกว่อเฉียว มีความสูง 130 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 750 เมกะวัตต์ เขื่อนกันลันปา กำลังผลิตไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ และเขื่อนเมงซอง กำลังผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น