ประจวบคีรีขันธ์ - คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังแนวทางการปฏิบัติราชการในการพัฒนาเมืองชายแดน และตรวจเยี่ยมด่านสิงขร มีผู้ว่าฯประจวบฯ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การต้อนรับและนำเสนอชายแดนไทย-พม่าด่านสิงขร ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (19 มี.ค.) นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสิริวุฒิ เหมทัติ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายปรีดา สุขใจ ป้องกันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางกัลยารัตน์ นิลอ่อน รักษาการหัวหน้าสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทหาร ตชด.ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายสามารถ มะลูลิม ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะเข้ารับฟังบรรยายสรุปปัญหาการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ และแนวทางการพัฒนาเมืองชายแดน และตรวจเยี่ยมด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ห้องประชุมเกาะหลัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งในที่ประชุมทางจังหวัดประจวบฯ ได้มีการสรุปภาพรวมการดำเนินการพัฒนาชายแดนบริเวณด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบฯ ที่จังหวัดได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว อาทิ ยุทธศาสตร์การพัฒนาชายแดน ที่ได้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน (2554-2558) จัดทำแผนและโครงการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ด่านสิงขร เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและชุมชน เป็นต้น
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า อนาคตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะจัดตั้งศูนย์ราชการ บนเนื้อที่ 330 ไร่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เพื่อรองรับการยกฐานะจาก “จุดผ่อนปรนด่านสิงขร” เป็น “จุดผ่านแดนถาวรสิงขร” การยกระดับด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวร มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้สามารถขยายตัวและพัฒนาขึ้นเป็นเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุน เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ จากไทยเข้าและออกสู่สหภาพพม่า
เมื่อยกระดับเป็นด่านถาวรแล้ว การค้าชายแดนของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นที่นิยมของชาวพม่าแล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของพม่า เช่น น้ำมันปาล์ม ยางพารา มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ สามารถนำเข้าวัตถุดิบด้านการประมง เช่น ปลา กุ้ง ปู จากเมืองมะริด ผ่านช่องทางนี้ อันอาจส่งผลให้เกิดกิจการร้านอาหารบริเวณชายแดนหรือที่ตัวเมืองประจวบฯได้ และสามารถเชื่อมโยงกับร้านอาหารที่หัวหินได้ด้วย
นายวีระ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็จะมีการมีการเชื่อมโยงเส้นทางหัวหิน-ประจวบฯ-ด่านสิงขร-มูด่อง-มะริด ซึ่งเป็นช่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งมีการประมาณการว่า มูลค่าการค้าผ่านพิธีศุลกากรไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ปีละไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท
ในปัจจุบันการดำเนินการยกฐานะจากจุดผ่อนปรน เป็นด่านถาวรยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ทั้งในเรื่องกรอบทิศทางการพัฒนาด่านชายแดนไทย-พม่า ภายใต้ความร่วมมือ ACMECS ยังไม่เป็นรูปธรรม การดำเนินโครงการพัฒนาขับเคลื่อนด่านสิงขร ยังคงเป็นการดำเนินการเฉพาะของพื้นที่เท่านั้น ซึ่งมีความจำกัดด้านงบประมาณ และความเชี่ยวชาญ
ประกอบกับการดำเนินการในฝ่ายพม่ายังไม่มีการพัฒนาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด หากสามารถติดต่อประสานเพื่อขอเปิดด่านสิงขร เป็นช่องทางสัญจรผ่านแดนอีกหนึ่งช่องทาง จะทำให้การพัฒนาโครงสร้างในฝ่ายพม่าคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือจากทางฝั่งไทยได้สะดวก แต่ปัจจุบันเส้นทางการคมนาคมทางรถยนต์ระหว่างเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ มะริด-ด่านสิงขร ระยะทางประมาณกว่า 150 กม.ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 6 ชม.ยังมีสภาพเป็นทางดิน ที่ทุรกันดารไม่สะดวกต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก และด้วยสภาพภูมิประเทศของด่านสิงขรเป็นภูเขา จึงจำเป็นต้องปรับพื้นที่ก่อนการก่อสร่างอาคารหรือเส้นทางในการขนส่งสินค้า เพื่อการพัฒนาชายแดนต่อไป ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมบรรยายสรุป คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมบริเวณด่านสิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบฯด้วย
ด้าน นายอภิชาติ หงษ์สกุล ประธานฝ่ายพัฒนาการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดประจวบฯ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เห็นด้วยกับการผลักดันให้มีการยักระดับจากจุดป่อนปรนทางการค้า ที่ด่านสิงขร เป็นด่านถาวร เพื่อเชื่อมต่อไปถึงเมืองมะริด ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน เดินทางไปดูภาพรวมของเมืองมะริด มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งการเปิดเป็นด่านถาวรน่าจะส่งผลดีทั้งภาคอุตสาหกรรม ทั้งการประมง การเกษตร และการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะเมืองมะริดเป็นเมืองทะเล มีเกาะแก่งกว่า 60 เกาะ เป็นแหล่งดำน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งหากการผลักดันเปิดด่านสิงขนเป็นด่านถาวรได้สำเร็จ ก็จะทำให้การขนส่วนสินค้าทะเลย่นระยะเวลาการเดินทางจากมะริด ผ่านมาด่านสิงขร มุ่งหน้าไปยังมหาชัย กรุงเทพฯ โดยไม่ต้องไปที่จังหวัดระนอง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะเป็นการเปิดประตูการค้าระหว่างประจวบฯเมืองมะริด พม่าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริเวณด่านสิงขรปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ทั้งเฟอร์นิเจอร์ กล้วยไม้ และสินค้าจากฝั่งพม่าเป็นจำนวนมากในแต่ละสัปดาห์