xs
xsm
sm
md
lg

“โอไอซี” กับมุมมองการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ท.หญิง วาสนา หอมหวล
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

ตั้งแต่ 2547 จวบจนปัจจุบัน แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการยืนยันจากรัฐบาล กองทัพ และทุกหน่วยงานว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศมาโดยตลอด แต่องค์กรหลายๆ องค์กรในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น องค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมทั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ต่างเฝ้าติดตามการพัฒนาของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเกาะติด และมีคำถามต่อรัฐบาลมาโดยตลอดว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องความไม่สงบภายในประเทศ? เป็นเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดน? เป็นเรื่องของการก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา? หรือรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมหรือไม่?

เพราะจากเหตุรุนแรงที่ผ่านมา แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และองค์กรต่างๆ พยายามที่จะฉกฉวยโอกาสนำเรื่องที่เกิดขึ้นฟ้องไปยังโอไอซี และมีการกล่าวหารัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยายามอย่างยิ่งในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของโอไอซี เพื่อที่จะได้เคลื่อนไหวในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค.2555 ที่ผ่านมา นายซาเยด คาสเซม เอลมาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี และคณะได้เดินทางมาเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพบกับตัวแทนของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ได้แก่ แม่ทัพภาค 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4, เลขาธิการ ศอ.บต., ผู้นำศาสนา และตัวแทนจากภาคประชาชน เพื่อสอบถามถึงข้อข้องใจ ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งลงพื้นที่ไปพบปะผู้นำศาสนาในพื้นที่ ประชาชน รวมทั้งได้ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านยุติธรรมชุมชน ด้านศาสนา การศึกษา และวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่

การเดินทางมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสให้คณะผู้แทนระดับสูงของโอไอซีได้รับทราบความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขต้นเหตุของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังสะท้อนการติดต่อ และความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างไทยกับโอไอซี ซึ่งประเทศไทยนั้นอยู่ในสถานะประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรตั้งแต่ 1 ต.ค.2541 เป็นต้นมา โดยไทยนั้นได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้แทนโอไอซี นำโดยเอกอัครราชทูตเอลมาสรี ครั้งแรกเมื่อปี 2548

ต่อมา ศาสตราจารย์เอ็กเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2550 ซึ่งในคราวนั้น ได้ฝากข้อห่วงใยไว้กับรัฐบาลไทยหลายประการด้วยกัน เช่น การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ การมีการกระจายอำนาจการปกครองเพื่อให้คนในพื้นที่มีส่วนในการปกครอง การอำนวยความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบซึ่งตลอดการมาเยือน

ในครั้งนี้ เชื่อได้ว่าโอไอซี คงจะได้เห็นถึงความพยายามในการตอบโจทย์ของรัฐบาลต่อโอไอซี ในระดับหนึ่ง เพราะในเรื่องการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ และชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ ได้มีการส่งเสริมการศึกษา สนับสนุนการใช้ภาษามลายู และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ส่วนคำตอบในเรื่องกรือเซะ และตากใบนั้น มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อวางกรอบในเรื่องของการคืนความเป็นธรรมด้วยการเยียวยาที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่เป็นหนึ่งในการบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, นโยบายสานใจ สู่สันติของแม่ทัพภาค 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต. ในการอำนวยความเป็นธรรม

“OIC ขอประณามการเข่นฆ่าชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยไม่ได้เลือกว่าเขาจะเป็นคนมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม เพราะหลักการของอิสลามชัดเจน อัล-กุรอาน ไม่ได้บอกว่า ชีวิตตรงนี้ หมายถึงพุทธ หรือมุสลิม ทุกชีวิตมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
นายซาเยด คาสเซม เอลมาสรี ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการของโอไอซี
นายซาเยด คาสเซม เอลมาสรี ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการของ Organisation of Islamic Cooperation หรือโอไอซี กล่าวในการเยือนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 โดยได้กล่าวเป็นภาษาอาหรับและแปลสดโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ แบบคำต่อคำว่า

“ขอขอบคุณเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และผู้มีเกียรติทุกท่าน ยุวชนบัณฑิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ และให้การต้อนรับคณะโอไอซีในวันนี้ทุกท่าน ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่ในวันนี้ สำหรับผมแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มาเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผมได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ปี 2548 ส่วนปี 2550 ไม่ได้ลงพื้นที่ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มีโอกาสลงมา ประเด็นสำคัญที่ดีใจ คือ เนื่องจากว่าเยาวชนในวันนี้ คือ อนาคตของชาติในวันหน้า หากเยาวชนในวันนี้สามารถเข้าใจและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนสำคัญหรือบทบาทสำคัญที่จะมามีส่วนส่งเสริมในการสร้าง หรือนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าเป็นแห่งหนึ่งที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นโดยตลอด จากนั้นมาทางโอไอซี ให้ความสนใจที่จะได้เข้ามาแสวงหาลู่ทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างโอไอซีกับรัฐบาลไทย จนกระทั่ง พ.ศ.2550 เลขาธิการโอไอซี (ศ.ดร.อิกเมเล็ดดิน อิซาโนกลู ) กับรัฐบาลไทยได้มีการลงนามร่วม หรือที่เรียกว่า Joint Press Statement

จากการลงนามครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของบรรทัดฐานในการให้ความร่วมมือระหว่างโอไอซีกับรัฐบาลไทยบนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายใน สิ่งที่ดีใจกลับมาในวันนี้ เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรง การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าเทียบกับอดีตที่ผ่านมาวันนี้ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งผมจะได้นำเรียนท่านเลขาธิการโอไอซีทันทีหลังจากการเดินทางกลับจากการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ สิ่งที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย คือ ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ อิสลามไม่ได้มีส่วน

และที่สำคัญ สิ่งที่เรามีท่าทีร่วมกันครั้งนี้ คือ สาเหตุสำคัญมาจากเรื่องความแตกต่างในเรื่องของอัตลักษณ์ ความต่างในเรื่องของชาติพันธุ์ ความต่างในเรื่องศาสนา ความต่างในเรื่องประเพณี ซึ่งอาจจะมีส่วนเล็กน้อยที่เข้ามาเสริม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่มีกลุ่มชนน้อยทั่วไปในโลกนี้ เพราะฉะนั้น แนวทางที่เห็นในวันนี้ คือ ความรุนแรง การใช้กำลัง ไม่ได้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา แต่การแสวงหาแนวทางที่เป็นสันติ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การยอมรับในเรื่องสำคัญเหล่านี้ เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง

หลังจากได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานราชการ และผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลเมื่อวานนี้มีความประทับใจในพัฒนาการที่เป็นไปในทางบวก จึงอยากจะขอเรียนให้ทราบ ก็คือ รู้สึกดีใจที่เห็นว่ารัฐบาลได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา การใช้ภาษาถิ่น คือ การใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของรัฐซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี และผมได้ทราบว่าเป็นโครงการนำร่องเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ ได้มีการขยายและมีเป็นร้อยๆ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นการรักษาซึ่งวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญ ถัดมาได้ทราบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องของการพูดคุยกับทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่อาจจะมีความเห็นที่ต่างจากฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งเห็นว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจในอนาคต

ประเด็นที่อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบอีกประเด็นหนึ่ง คือ ได้มีการพูดถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้ในพื้นที่ ซึ่งผมและคณะได้มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ดีใจที่ได้ทราบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องมีการพิจารณายกเลิกในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าหากสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องพิจารณายกเลิกไปและอาจจะต้องใช้กฎหมายปกติเข้ามาแทนที่ ซึ่งโอไอซีเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ทางโอไอซีมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

ที่สำคัญท่าทีที่ชัดเจนของโอไอซี คือ โอไอซีประณามเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะก่อให้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มใด หรือฝ่ายใด และขอประณามการเข่นฆ่าชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยไม่ได้เลือกว่าเขาจะเป็นคนมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม เพราะหลักการของอิสลามชัดเจน อัล-กุรอาน ไม่ได้บอกว่า ชีวิตตรงนี้ หมายถึงพุทธ หรือมุสลิม ทุกชีวิตมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิ่งที่โอไอซีได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการ คือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐบาลใช้แนวทางการแก้ปัญหานี้ด้วยสันติวิธี โอไอซีมีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน หรือแยกดินแดนส่วนนี้ออกจากประเทศไทย”

คำสัมภาษณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ถึงท่าทีที่ชัดเจนจากโอไอซี ต่อผลการดำเนินงานการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี การเดินทางมาเยือนในคราวนี้เสมือนการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะโอไอซีได้เข้าใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่าง “ศาสนา” อย่างที่มีหลายฝ่ายพยายามที่จะให้เป็น และให้เข้าใจผิด

โดยเฉพาะคำกล่าวของนาย ซาเยด คาสเซม เอลมาสรี ตัวแทนของโอไอซี ที่ประณามการก่อการร้าย ว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักศาสนา น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หลงผิดได้เห็นถึงความจริงว่า สิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปฏิบัติการสร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นแนวทางที่ผิดหลักศาสนา ผิดหลักมนุษยธรรม ที่แม้แต่องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ ที่เป็นประเทศมุสลิม ก็ต่อต้าน และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ท่าทีดังกล่าวคงจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ได้เป็นอย่างดี ว่าสมควรแล้วที่จะหยุดการใช้ความรุนแรง และกลับมาใช้สันติวิธี ในการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบพื้นที่ เพราะทุกคนล้วนเกิดมาบนผืนแผ่นดินเดียวกัน เป็นคนไทย เป็นพี่เป็นน้องกันทั้งสิ้น การนำความรุนแรงมาเป็นหนทางในการแก้ปัญหา การมุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มันยุติธรรมแล้วหรือสำหรับพวกเขา ผู้ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ???
กำลังโหลดความคิดเห็น