xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ไทย 8 จ.ลุ่มน้ำโขงบุกยื่นหนังสือค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง บุกยื่นหนังสือค้านสร้างเขื่อน “ไซยะบุรี” ในการประชุม “แม่น้ำโขงสู่ริโอ” ที่ภูเก็ต ขู่หลังยื่นหนังสือไม่มีอะไรคืบหน้า ปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแน่

เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม “แม่น้ำโขงสู่ริโอ” เรื่อง การรักษาสมดุลระความความต้องการด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมให้แม่น้ำข้ามพรมแดนสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นด้านอาหาร น้ำ และพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ประเทศไทยเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงที่ภูเก็ต
รวมทั้งแลกเปลี่ยนบทเรียน และแสวงหาทางแก้ปัญหาธรรมาภิบาล และการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน ขณะเดียวกัน ก็ลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น โดยมีผู้บริหารองค์กรลุ่มน้ำ 14 องค์กรทั่วโลก ตลอดจนองค์กรระหว่างรัฐบาลในระดับภูมิภาค 2 องค์กร รัฐมนตรีที่ดูแลด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่จากส่วนราชการ ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานพัฒนา องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก จำนวน 350 คน

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการประชุมแม่น้ำโขงสู่ริโอ นั้น มีวัตถุประสงค์หลักในการพิจารณาแนวโน้มการใช้น้ำในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นด้านอาหาร พลังงาน และน้ำ รวมทั้งศึกษาว่าทั้งสามภาคส่วนมีความเชื่อมโยง และมีผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างไร

สำหรับในส่วนของประเทศไทย ก็จะนำเสนอในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร นอกจากนี้ เนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาเรื่องของอุทกภัย ซึ่งก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนามที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุทกภัย
ผู้บริหารองค์กรลุ่มน้ำ ผู้นำองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม
ขณะที่ นายฮานส์ กุตต์แมน หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้เพิ่มความกดดันต่อทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ผลิตอาหาร และพลังงาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของลุ่มน้ำอื่นๆ และขยายมุมมองและเพิ่มความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหวังว่า เวทีการหารือครั้งนี้จะเป็นโอกาสเช่นเดียวกันสำหรับลุ่มน้ำอื่นๆ

ทั้งนี้ การประชุมแม่น้ำโขงสู่ริโอ จะมีการเสนอข้อมูล และเสริมมิติด้านน้ำให้แก่การประชุมสหประชาชนชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการประชุมริโอ+20 ซึ่งจะจัดขึ้นเดือนหน้า ณ นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล โดยมีหัวข้อหลัก คือ เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน และกรอบแนวทางเชิงสถาบัน นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนวิธีการใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมกับการอภิปรายปัญหาในปัจจุบัน และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นหนังสือถึงนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ได้มีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ทบทวนบทบาท ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมทั้งเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีของประเทศลาว เนื่องจากมองว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงจะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งในการยื่นหนังสือในครั้งนี้ได้ส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนถึงคณะมนตรีแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ทั้งประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

สำหรับประเด็นสำคัญที่มายื่นครั้งนี้คือ 1. MRC ไม่ทำหน้าที่รักษาข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ทั้ง 4 ประเทศร่วมกันร่างขึ้นมาเมื่อปี 2538 ที่ว่าการจะกระทำการใดๆ อันเป็นผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ต้องได้รับความเป็นชอบจากทั้ง 4 ประเทศก่อน 2. รัฐบาลลาว ที่สนับสนุนให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เริ่มสร้างเขื่อนไซยะบุรีไปแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง เมือวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่บอกว่า ห้ามทำการใดๆ ในแม่น้ำโขงจนกว่าจะทำการศึกษาผลกระทบใหม่ให้แล้วเสร็จ

ดังนั้น ข้อเรียกร้องของเครือข่ายคือ 1. ให้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ยุติการสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยทันที 2. ให้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด ( มหาชน) ระงับการให้เงินกู้แก่บริษัทดังกล่าว และ 3. ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยกเลิกสัญญาที่ได้แอบลงนามในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายฮานส์ กุตต์ปมน หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมการแม่น้ำโขง
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายอ้ายน้องในประเทศลาว กล่าวย้ำด้วยว่า หากการร้องขอคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่เป็นผล เพราะผู้เกี่ยวข้องเริ่มการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีไปบางส่วนแล้ว และทางเครือข่ายมีมาตรการสุดท้ายที่สำคัญคือ จำเป็นจะต้องรวมตัวกันปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคายต่อไป ซึ่งหลังจากยื่นหนังสือแล้วจะติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีอะไรคืบหน้าปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแน่นอน

อย่างไรก็ดี นาย Han Guttman CEO คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) กล่าวกับตัวแทนชาวบ้านที่มายื่นหนังสือในครั้งนี้ ว่า ในที่ประชุม 3 วันนี้ บางช่วงของการประชุม จะมีการหยิบยกกรณีของการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมาพูดคุย และหารือกันส่วนหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับประเด็นสำคัญของการประชุมคือ ความมั่นคงด้านน้ำ อาหารแ ละพลังงาน นอกจากนี้ ตัวแทนนานาชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่สำคัญ 14 แห่ง ทั่วโลก ยังจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารระดับสูงของลุ่มน้ำโขงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น