xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายน้ำโขงบุกยื่น “ปู” ค้านสร้าง “เขื่อนไชยะบุรี” - จี้ไทยล้มแผนซื้อไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน บุกยื่นหนังสือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว กระทบสวล. จี้ไทยล้มแผนซื้อไฟฟ้า ที่จ.ศรีสะเกษ วันนี้ (25ธ.ค.)
ศรีสะเกษ - เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน บุกยื่นหนังสือ “ยิ่งลักษณ์” คัดค้านการสร้างเขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว ย้ำกระทบสิ่งแวดล้อม ทำปลาแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ ไม่เว้นปลาบึก จี้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไชยะบุรี โดย “กฟผ.”

วันนี้ (25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน นำชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายหลังที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปิดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนคนอีสาน ครั้งที่ 4/2554 “ตุ้มโฮมชุมชน สมส่วน สมบูรณ์ สมสุข สมศักดิ์ศรี ด้วยพลังสวัสดิการชุมชน”

นายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน กล่าวว่า พวกเราในนามเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย จ.เชียงราย จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ได้ทำงานติดตามกรณีการสร้างเขื่อนไชยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แม้ว่าเขื่อนจะตั้งอยู่ใน สปป.ลาว แต่โครงการเขื่อนไชยะบุรีเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากมีบริษัท ช.การช่าง (มหาชน) จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทย 4 แห่ง ในการพัฒนาโครงการ ขณะที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องแสดงเจตจำนงต่อพันธกรณีตามกฎหมายตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ในการแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ และวิถีชีวิตของประชาชนกว่า 60 ล้านคนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงซึ่งได้พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงทั้งโดยตรง และโดยอ้อม

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า จากการศึกษาด้านต่างๆ ของนักวิชาการโดยเฉพาะรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่าเขื่อนไชยะบุรี จะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตการอพยพของพันธุ์ปลา และอาจเป็นเหตุให้มีการสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 41 ชนิดในแม่น้ำโขง รวมทั้งปลาบึกด้วย

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของทางสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ที่ยื่นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีดังนี้ 1.ควรให้ประชาชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไชยะบุรี และมีส่วนร่วมในการศึกษาผล กระทบดังกล่าวนี้ทุกขั้นตอนในกระบวนการศึกษา

2.ควรมีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไชยะบุรีใหม่ ให้สอดคล้องกับความคาดหวังในระดับสากลที่มีต่อเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างในแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดน ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโครงการนี้

3.เนื่องจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีข้อบกพร่อง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบก่อนกระบวนการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน จึงถือได้ว่ากระบวนการเหล่านี้มีข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ เมื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจนเสร็จแล้ว ก็ควรนำผลการวิเคราะห์นั้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดให้มีการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว และประเทศอื่นๆ อีก 3 แห่ง ในแม่น้ำโขงตอนล่าง

4.การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไชยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมของประเทศต่างๆ และยังขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity)

5.การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไชยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อรัฐเพื่อนบ้าน ซึ่งขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ในการป้องกันอันตรายข้ามพรมแดน

6.การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไชยะบุรีตามโครงการที่เสนอขัดกับหลัก การป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวไม่คำนึงความไม่แน่นอนและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อน และไม่แสดงให้เห็นว่า จะสามารถนำมาตรการลดผลกระทบเหล่านี้ไปปฏิบัติได้จริง

7.ประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนาม มีสิทธิและหน้าที่ในการป้องกันผลกระทบร้ายแรงจากเขื่อนไชยะบุรีที่มีต่อแม่น้ำโขง รัฐบาลประเทศเหล่านี้มีสิทธิได้รับการเยียวยาด้านการเงิน เนื่องจากผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตน

และ 8.ให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไชยะบุรี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น