xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จี้นายกฯ ทบทวนสร้างเขื่อนไซยะบุรี ลาว ระงับสัญญา กฟผ.ซื้อไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมการสิทธิฯ ทำหนังสือถึงนายกฯ จี้ทบทวนก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ลาว และระงับสัญญาซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.จนกว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จ แฉกระทบสิ่งแวดล้อมชัด

วันนี้ (4 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้มีคำสั่ง ทบทวนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่เอกชนของประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดย ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมแม่น้ำโขง (MRC) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2554 และให้มีการระงับการกระทำใดๆ ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไว้จนกว่าการตรวจสอบกรณีนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและถูกต้องตามขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว และเพื่อจะได้ไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ระบุว่า เมื่อเดือน พ.ค. 54 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยภาคเอกชนของประเทศไทย เพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งในประเทศไทย และทั้งการดำเนินการข้ามพรมแดน ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายจังหวัดของไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทางคณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ ในระหว่างการตรวจสอบของอนุกรรมการฯ ก็ได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติมจากประชาชน ว่า มีความพยายามที่จะดำเนินงานก่อสร้างโครงการต่อไป ทั้งที่ยังไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการตามเงื่อนไขของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างในแม่น้ำโขง อันเป็นข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่เป็นสาระสำคัญของกระบวนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการต่อสาธารณะอย่างแพร่หลาย ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติกำหนดให้ กฟผ.ต้องดำเนินการก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งความพยายามเดินหน้าโครงการโดยไม่สนใจเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว สาเหตุสำคัญน่าจะจาก จากการที่ กฟผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Xayaburi Power Company Limited ไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 54

โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรตรวจสอบพบว่า ทั้งสองประเด็นอาจมีปัญหา 1. การละเมิดข้อตกลงตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเนื่องจาก กฟผ.ได้ให้หลักประกันในสัญญาว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ของประชาชนไทยและลาว และยังได้ระบุอีกว่า ได้จัดให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างเพียงพอแล้ว ซึ่งประเด็นนี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ พบจากการตรวจสอบว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานศึกษาผลกระทบทางสังคม (SIA) ที่จัดทำโดยบริษัท TEAM Consulting Engineering and Management Co.Ltd. เมื่อเดือน ส.ค. 53 ไม่มีการศึกษาข้อมูลว่าด้วยผลกระทบข้ามพรมแดน โดยผู้ศึกษาได้ขยายพื้นที่การศึกษาผลกระทบออกไปจากพื้นที่เขื่อนเพียงแค่ 10 กม.เท่านั้น

โดยไม่ได้มีการประเมินผลกระทบด้านการอพยพของปลา การประมง การเกษตรริมน้ำโขง การใช้น้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยที่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนเหนือขึ้นไป คือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และด้านท้ายเขื่อน คือ อ.เชียงคาน จ.เลย และยังรวมถึงชุมชนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในหลายๆ ด้านดังกล่าว ถึง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี หรืออาจจะส่งผลกระทบไปตลอดลำน้ำจนถึงปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม โดยข้อเท็จจริงนี้ปรากฏอยู่ในรายงานการทบทวนโครงการก่อนการปรึกษาหารือของเลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง วันที่ 24 มี.ค.54 ที่มีการระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศไทย ซึ่งควรจะต้องมีการประเมินผลกระทบเพิ่มเติม และต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 54 คณะกรรมการแม่น้ำโขงได้มีมติให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในฝั่งประเทศไทยก่อนที่จะมีการก่อสร้างโครงการ

นอกจากนี้ ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวนั้น กฟผ.ได้ให้หลักประกันในสัญญาว่า เขื่อนไซยะบุรีจะไม่ตกอยู่ภายใต้การดำเนินการหรือขั้นตอนใดๆ ของคณะกรรมการหรือหน่วยงานตามกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นผลทางกฎหมาย ความสมบูรณ์ หรือการมีผลใช้บังคับของสัญญา ดังปรากฏตามสัญญา ข้อที่ 15.2.1 (e) นั้นทางคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวอาจขัดแย้งกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อันอาจจะส่งผลต่อความเป็นผลทางกฎหมาย ความสมบูรณ์ หรือการมีผลใช้บังคับของสัญญาในท้ายที่สุดได้

2. ปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะในฝั่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ เห็นว่า ทั้งๆ ที่โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบในหลายด้านดังกล่าว แต่ กฟผ.และรัฐบาลไทย กลับไม่มีการเปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ต่อสาธารณชนก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของ กฟผ.และรัฐบาลไทยดังกล่าวนี้ จึงอาจไม่เป็นไปตามหลักการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 และอาจขัดต่อข้อกำหนดของมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รวมทั้งยังอาจขัดต่อหลักการในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่ประเทศไทยลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเมื่อพ.ศ. 2538 และหลักธรรมาภิบาลที่ดีอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น