ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นายหว่างก๊วกเวือง (Hoàng Quốc Vượng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นำคณะไปยังเขื่อนซงแจง 2 (Sông Tranh 2) ใน จ.กว๋างนาม เมื่อวันจันทร์ที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา กำกับให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเร่งระบายน้ำออกจากอ่างให้หมดเพื่อตรวจสภาพทั้งหมดก่อนพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป
นายเวืองได้สั่งการอย่างเฉียบขาดจะต้องป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนนับหมื่นๆ คนที่อาศัยตามลำน้ำใต้เขื่อน
ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรสระบุว่า เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้ติดตามรัฐมนตรีเวียดนามไปยังเขื่อนแห่งนี้ รวมทั้งผู้แทนจากคณะกรรมการตรวจตรา ซึ่งเป็นหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐ และยังมีคณะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเขื่อนและการชลประทานร่วมไปด้วยจำนวนมาก
หลังจากลงสำรวจพื้นที่และฟังสรุปสถานการณ์แล้ว รัฐมนตรีเวียดนาม กับทางการในท้องถิ่นเห็นพ้องกันว่า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างให้หมด พร้อมทั้งตรวจสภาพเพื่อหาทางซ่อมแซมอุดรอยร้าวจากด้านหน้าเขื่อนถ้าหากทำได้ มิใช่อุดด้านหลังเขื่อนเช่นในปัจจุบัน
นักวิชาการของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้ากับคณะกรรมการบริหารเขื่อนแห่งนี้กล่าวว่า ปัจจุบันได้เร่งระบายน้ำออก 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ภายใน 2 สัปดาห์ น้ำเหนือเขื่อนจะลง 140 เมตร หากเร่งระบายมากกว่านี้เกรงจะส่งผลกระทบต่อชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ทางใต้เขื่อนลงไป ทั้งยืนยันว่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถอุดรอยร้าวได้
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้ง ดร.ฝ่ามห่มง์ซยาง (Phạm Hồng Giang) ประธานคณะกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าควรเอาใจใส่ให้มากกว่านี้ เพราะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากมายที่ช่วยให้สามารถอุดซ่อมรอยร้าวได้แม้จะระบายน้ำออกยังไม่หมดก็ตาม รวมทั้งวิธีที่เรียกว่าจีโอเมมเบรน (Geomembrane) ที่อุดรอยร้าวจากด้านหน้าเขื่อนได้โดยไม่ต้องระบายน้ำออก
แต่ ศ.ดร.เหวียนแบ๊กฟุก (Nguyễn Bách Phúc) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านการไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์และอินโฟเมติก แห่งนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า เขื่อนซองแจงมีกำลังปั่นไฟเพียง 190 เมกะวัตต์ เป็นเพียงไม่ถึง 1% ของระบบไฟฟ้าในเวียดนามทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 20,000 เมะวัตต์ในปัจจุบัน
“การหยุดปั่นไฟเพื่อหาทางจัดการกับรอยร้าวจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก รัฐบาลควรสั่งปิดเขื่อนแห่งนี้เพื่อสำรวจความเสียหายอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้” ดร.ฟุกกล่าว
พายุปาข่าซึ่งเป็นลูกแรกในปีนี้ได้พัดเข้าถึงฝั่งในวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนสลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและทำให้เกิดฝนตกหนักและตกปานกลางกินบริเวณกว้าง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดตั้งแต่ภาคกลางรวมทั้ง จ.กว๋างนาม ลงไปจนถึงเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
ในนครโฮจิมินห์มีบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาถูกพายุพัดทำลายเสียหาย ต้นไม้หักโค่นลงจำนวนมาก พายุที่เกิดเร็วขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ ทำให้หลายฝ่ายต่างเป็นกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับชะตากรรมจากเขื่อนร้าว.