ASTVผู้จัดการออนไลน์ – นักวิชาการทางด้านการชลประทาน และอุทกศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงในเวียดนามเรียกร้องให้รัฐบาลรีบสั่งให้การไฟฟ้าเวียดนามปิดเขื่อนที่กำลังรั่วรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรม โดยชี้ว่าไม่มีทางที่จะอุดรอยร้าวได้อย่างถาวร และ ถ้าหากเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่งเขื่อนใหญ่อาจจะพังทลายสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรนับหมื่นๆ ได้
ศ.ดร.หว่างวันเติ๋น (Hoàng Văn Tấn) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยการก่อสร้าง กล่าวว่าคณะกรรมการบริหารที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนซงแจง 2 (Sông Tranh 2) ที่มีรอยร้าวและมีน้ำรั่วออกมาอย่างแรงในขณะนี้ ได้กระทำการแบบ “ขัดต่อลักษณะวิชาชีพ” คือ พยายามใช้สารเคมีฉีดเข้าอุดรอยรั่วในท่ามกลางน้ำไหล ซึ่งไม่ต่างกับการพ่นสเปรย์ให้หายไปในสายหมอก และ ปลอบใจตัวเองว่า “ควบคุมได้”
ศ.ดร.เติ่น กล่าวว่า ลักษณะที่เกิดเป็นรอยรั่วยาวขนาด 1 เมตร ถึง 3 แห่ง และรอยพรุนอีกมากมายในตัวเขื่อน บอกให้ทราบว่า มีความปรกติทางด้านโครงสร้าง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การออกแบบ จนถึงการก่อสร้าง อันเป็นประเด็นที่คณะกรรมการรบริหาร ปัดปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ก่อนอื่นจะต้องรีบปิดเขื่อนทันทีและเร่งระบายน้ำออก เพราะเขื่อนอาจจะแตกหรือพังได้ทุกเมื่อ หลังจากปิดการใช้งานแล้วผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดตรวจสอบรอยรั่ว ก่อนจะตัดสินใจว่าจะใช้การต่อไปหรือไม่ หรือจะแก้ไจด้วยวิธีการใด
ดร.บุ่ยจุงซวุง (Bùi Trung Dung) รองหัวหน้าคณะกรรมการตรวจรับโครงการในสังกัดกระทรวงก่อสร้าง ได้ให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า “ความบกพร่องด้านการก่อสร้าง การออกแบบ ไม่ได้เป็นปัญหาอย่างแน่นอน”
แต่เดจ้าหน้าที่ผู้นี้โยนกลองไปยังคณะกรรมการที่รับผิดชอบเขื่อนนี้ โดยระบุว่า “ขาดความรับผิดชอบ” ไม่ได้รีบจัดการกับปัญหาตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่ควรจะรีบปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุดเท่าที่ระบบจะยอมรับได้ และรีบหาทางแก้ไขรอยรั่วซึมต่างๆ ก่อนที่ฝนจะตกลงมา
แต่ ดร.เลแองต๋วน ( Lê Anh Tuấn) แห่งสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมทิอากาศโลก นครเกิ่นเทอ (Cần Thơ) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง และเป็นกรรมการที่ปรึกษาของกลุ่มเครือข่ายแม่น้ำเวียดนามกล่าวว่าสถานการณ์ของเขื่อนซงแจง 2 เป็นอันตรายมาก
เขื่อนแห่งนี้เหมือนกับคนติดเชื้อและจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น รอยร้าวพร้อมจะขยายใหญ่โตและทำให้เขื่อนแตกได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหว
“จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการสำรวจรอยปริร้าวกับรอยรั่วต่างๆ ซึ่งควรจะต้องรีบกระทำ ต้องมีการระดมเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลก เพราะขณะนี้เขื่อนเป็นอันตรายมาก” ดร.ต๋วน กล่าว พร้อมสนับสนุนความคิดของนักวิชาการคนอื่นๆ ที่เสนนอให้ปิดเขื่อนลงชั่วคราว
.
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา ก็คือ คณะกรรมการบริหารเขื่อนเอง ที่ยังป่าวประกาศว่าโครงสร้างเขื่อนออกแบบมาให้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 7 มาตราริกเตอร์ แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว รอยร้าวจะทำให้เขื่อนพังลงได้ทุกเมื่อหากเกิดแผ่นดินไหว แม้ขนาดย่อมๆ ขึ้นมาในบริเวณนี้อีก ดร.ต๋วน กล่าว
ตามรายงานของสื่อเวียดนาม ในปี 2554 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดย่อมขึ้นในบริเวณแม่น้ำซงแจงถึง 4 ครั้ง และ 3 ครั้งหลังเกิดในตอนปลายปี รวมทั้งขนาด 3.6 มาตราริกเตอร์ในเดือน พ.ย.ด้วย ครั้งสุดท้ายนี้ได้ทำให้เกิดหลุมลึกขึ้นบริเวณใกล้สันเขื่อน ในขณะที่คณะกรรมการบริหารเขื่อนอธิบายว่า เป็นหลุมที่เกิดจากการก่อสร้าง ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้วยังทำให้เกิดแผ่นดินยุบขึ้นหลายแห่งตามแนวแม่น้ำ และ ถนนหลายสายในเขต อ.บั๊กจ่ามี (Bac Tra My) จ.กว๋างนาม (Quang Nam) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนแห่งนี้ เกิดเป็นรอยร้าว
นักวิชาการได้เคยออกเตือนมาหลายครั้ง ว่า เขื่อนหลายแห่งใน จ.กว๋างนาม อยู่ในแนวเลื่อนของเปลือกโลก และอาจจะได้รับอันตรายจากแผ่นดินไหว แต่เวียดนามซึ่งขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนักยังคงแสวงหาที่ตั้งเขื่อนในบริเวณนั้น
การไฟฟ้าเวียดนาม กล่าวว่า เขื่อนทุกแห่งถูกออกแบบให้ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ จึงจะไม่เป็นปัญหาใดๆ
แม่น้ำซงแจงเป็นลำน้ำสายยาวที่เกิดขากเขตที่ราบสูงภาคกลางในแถบ จ.ดั๊กลัก (Dak Lak) ไหลขึ้นเหนือผ่านหลายอำเภอของ จ.กว๋างนาม ไปออกทะเลจีนใต้ที่นครด่าหนัง หากเขื่อนพังน้ำปริมาณมหาศาลจะสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรนับหมื่นครัวเรือนที่อาศัยไปจนถึงปากแม่น้ำ เทือกสวนไร่นาอีกนับล้านไร่