พัทลุง - สังข์หยดข้าวจีไอไทยพันธุ์แรกของดีเมืองลุงจากบ้านเขากลาง ได้ชื่อว่าเป็นข้าวที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) พันธุ์แรกของประเทศไทยที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิให้แก่ชุมชนผู้ผลิต ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้จากการขายเป็นข้าวสารแล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นขนมได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
ข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พัทลุง มีแหล่งผลิตหลักอยู่ที่ชุมชนบ้านเขากลาง หมู่ 13 ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 3,000 ไร่ โดยมีการรวมกลุ่มผู้ผลิตข้าวสังข์หยดภายใต้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ที่มี นายนัด อ่อนแก้ว เป็นประธาน
โดยชาวบ้านเล่าว่า เมื่อก่อนที่นี่ชาวบ้านจะปลูกข้าวสังข์หยดไว้เพื่อหุงกินกันภายในครอบครัวหรือไว้ทำบุญ และเป็นของฝากให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพราะนอกจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าข้าวขาวแล้ว ยังสามารถนำไปเป็นแปรรูปเป็นแป้งข้าวเจ้าหรือทำขนมได้อีกหลายอย่าง เช่น ทองพับ ทองม้วน เป็นอีกผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มเช่นกัน
นายนัด อ่อนแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กลุ่มผู้ผลิตข้าวสังข์หยด ตราเขากลาง เปิดเผยนต่อถึงการปลูกข้าวสังข์หยดของชาวบ้านเขากลางในอดีตซึ่งมีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงแต่ให้ผลผลิตต่ำ และที่สำคัญขายไม่ได้ราคา จึงทำให้เขาเป็นตัวจักรสำคัญในการแก้ปัญหาในฐานะผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น
โดยเริ่มจากจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเมื่อปี 2546 และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปี 2548 มีการบริหารจัดการเก็บรวบรวมผลผลิตกันเอง เพื่อให้สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้สหกรณ์จังหวัดเป็นผู้ดูแล จัดหางบประมาณ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สร้างโรงสีเป็นของตนเอง และได้รับการสนับสนุนจากโครงการเอสเอ็มแอล สร้างโรงเรือนเก็บข้าวเปลือก ทำให้การทำงานคล่องตัวและเป็นระบบมากขึ้น
และในปี 2548 นั่นเอง กลุ่มได้เสนอของบประมาณผู้ว่าฯซีอีโอตามโครงการยุทธศาสตร์ข้าวครบวงจรและได้รับสนับสนุนมาสร้างโรงสีข้าวชุมชนกำลังการผลิต 12 ตันต่อวัน เครื่องอบลดความชื้น 30 ตันต่อวัน อบวันละ 3-4 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 8 ตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของวัตถุดิบด้วย ถ้าเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวโรงงานจะเดินเครื่องเกือบตลอด 24 ชั่วโมง
ประธานกลุ่มคนเดิมอธิบายถึงขั้นตอนการผลิตข้าวสังข์หยดบรรจุถุง ว่า หลังสมาชิกเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกจากท้องนาก็นำมาชั่งน้ำหนัก จากนั้นก็นำเข้าเครื่องอบลดความชื้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนนำไปแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วนำไปเข้าเครื่องบรรจุถุงพร้อมจำหน่ายต่อไป ส่วนข้าวสารและจมูกข้าวที่คัดทิ้งก็จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ เช่นขนมทองพับ จากเมื่อก่อน จมูกข้าวและปลายข้าวที่ขายไปให้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ในราคา กิโลกรัมละ 10 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปแล้วสามารถขายได้ถึง 300 บาท
สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลางที่แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารข้าวสังข์หยดได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวของจังหวัดพัทลุง สนใจโทร.08-7286-6446
ทั้งนี้ ข้าวสังข์หยดนั้นเมื่อหุงสุกแล้วมีลักษณะนิ่ม ค่อนข้างเหนียว รสชาติหอมนุ่มอร่อย และยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีน 6.2 กรัม เท่ากับข้าวหอมมะลิ ไขมัน 3.3 กรัม แคลเซียม 65 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.037 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.96 มิลลิกรัม และไนอะซิน 2.2 มิลลิกรัม"
นายนัด ยังเผยจุดเด่นพร้อมย้ำว่า สินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาดถือว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน เพราะทุกขั้นตอนต้องผ่านการควบคุมจากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุง ซึ่งผ่านระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practice : GAP) ซึ่งข้าวสังข์หยดนั้นจะปลูกได้แค่ปีละครั้ง โดยจะเริ่มปลูกกันในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และรอเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ในปีถัดไป
กระนั้นก็ตาม ข้าวสังข์หยดนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังเปรียบเหมือนเป็นยาสมุนไพร เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง สามารถต้านทานหรือยับยั้งการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง ความจำเสื่อม เป็นต้น โดยในอนาคตอาจจะได้รับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้ อันเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและผู้บริโภคก็มีสุขภาพที่ดีด้วย